กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อัพเดทสถานการณ์ภัยสุขภาพ และการรับมือโรคในช่วงเข้าพรรษา ดังนี้
แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง โดยสายพันธุ์ที่ระบาดมากคือสายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3 ตามลำดับ โดยแพร่กระจายได้ง่าย แต่ไม่ได้รุนแรงขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ก.ค. 67 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 33,586 ราย ปอดอักเสบ 682 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 309 ราย และเสียชีวิต 188 ราย และในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 7-13 ก.ค. 67 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,004 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง
ดังนั้น ขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก ควรแยกตัวจากผู้อื่นและปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์
แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยสะสม 217,806 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 18 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับการป้องกันโควิด-19
ดังนั้น เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป/ หญิงตั้งครรภ์/ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี/ ผู้มีโรคเรื้อรัง/ โรคธาลัสซีเมีย (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)/โรคอ้วน/ ผู้พิการทางสมอง สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน การจัดกิจกรรมรวมตัวเป็นกลุ่มในระยะนี้ (เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร ฯลฯ) ควรมีการคัดกรองผู้มีอาการป่วยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเข้มงวด หากพบให้งดเข้าร่วมกิจกรรมและรีบไปพบแพทย์
เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย. (โดยเฉพาะภาคเหนือ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ก.ค. 67 พบผู้ป่วย 44,387 ราย มากสุดในวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 43 ราย มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” คือ
– เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
– เน้นการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว
– เน้นการสื่อสารงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตราย เลือดออกในทางเดินอาหารได้
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน
ช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝน ยังคงพบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปีในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา ในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษแล้ว 19 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 79 ราย เสียชีวิต 8 ราย
ดังนั้น ขอเน้นย้ำประชาชนซื้อเห็ดมาปรุงประกอบอาหารจากฟาร์มเห็ด หรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ และไม่ควรเก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”
เป็นโรคที่พบมากในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการรับประทานเนื้อหมูดิบ เครื่องในและเลือดดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ โดยสถานการณ์ในปี 67 พบผู้ป่วยแล้ว 549 ราย เสียชีวิต 38 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำประชาชนไม่ควรรับประทานเนื้อหมูดิบ เครื่องในและเลือดดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หลังสัมผัสเนื้อหมูให้ล้างมือให้สะอาด และที่สำคัญต้องไม่ใช้เขียง มีด ตะเกียบ กับเนื้อหมูดิบและสุกร่วมกัน ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน และรับประทานโดยปรุงสุก
สถานการณ์ในปี 67 พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย มีประวัติถูกสุนัขกัดมีเลือดออก เป็นสุนัขมีเจ้าของ 1 ราย และสุนัขจรจัด 1 ราย แล้วไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค และสัตว์ที่กัดเมื่อตายไม่ได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อการส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคในสัตว์พบว่า เริ่มมีการพบโรคพิษสุนัขบ้าในโค
ดังนั้น ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีน รวมถึงหลีกเลี่ยงการชำแหละหรือรับประทานสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน เลีย น้ำลายหรือเลือดกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือผิวหนังที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องจนครบโดส สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ตามที่สัตวแพทย์นัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)
Tags: กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, วันเข้าพรรษา, ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก