หุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าปรับลงตามตลาดภูมิภาคกังวลเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง-ราคาน้ำมันร่วง

นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับลงตามตาดภูมิภาคส่วนใหญ่ จากกังวลเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งส่งผลดอลลาร์แข็งค่า-Bond yield สหรัฐขึ้นแรง แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็ร่วงหลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯพุ่ง-ประธานาธิบดีสหรัฐฯเล็งออกมาตรการสกัดราคาน้ำมันแพงหวั่นกระทบราคาตลาดโลก ส่วนบ้านเราติดตามการทยอยประกาศงบฯช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมให้แนวรับ 1,615 แนวต้าน 1,632 จุด

นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวลงเกือบทุกตลาด จากความกังวลเงินเฟ้อสหรัฐฯที่พุ่งขึ้น หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค.64 พุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.33 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% จากระดับ 5.4% ในเดือน ก.ย.64 ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นแรง ดังนั้นแนวโน้มเงินบาทวันนี้จะอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงแรงหลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้น และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ อาจดำเนินมาตรการเพื่อสกัดราคาน้ำมันแพง อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกได้

ส่วนบ้านเราช่วงนี้ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงโค้งสุดท้าย แม้จะคาดว่าไตรมาส 3/64 จะต่ำสุดของปีนี้ แต่หลังจากเปิดประเทศแล้วก็น่าจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และไตรมาส 4/64 งบฯน่าจะฟื้นขึ้นได้เช่นกัน

พร้อมให้แนวรับ 1,615 จุด ส่วนแนวต้าน 1,632 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

– ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (10 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,079.94 จุด ลดลง 240.04 จุด (-0.66%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,646.71 จุด ลดลง 38.54 จุด (-0.82%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,622.71 จุด ลดลง 263.84 จุด (-1.66%)

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 60.59 จุด หรือ -0.21%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 140.03 จุด หรือ -0.56% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.01 จุด หรือ -0.17%

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (10 พ.ย.)1,630.47 จุด ลดลง 1.22 จุด (-0.07%)

– นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,333.71 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.64

– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (10 พ.ย.) ปิดที่ระดับ 81.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 2.81 ดอลลาร์ หรือ 3.3%

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (10 พ.ย.) อยู่ที่ 6.46 ดอลลาร์/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 32.88 อ่อนค่าจากวานนี้ หลังดอลลาร์แข็งค่ารับเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง

– กนง.จับตาเงินเฟ้อใกล้ชิด รับมีแรงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นหากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เชื่อแค่ภาวะชั่วคราว ไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เหตุเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า พร้อมคงดอกเบี้ย 0.5% สนับสนุนการขยายตัว เศรษฐกิจไทย “วิจัยกรุงศรี” คาดแบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ยนโยบายยาวถึงสิ้นปี 2565

– รมว.อุตสาหกรรม สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งดำเนินงานด้านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและนำเครื่องจักรมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล โดยปีงบประมาณ 2564 มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน คิดเป็นวงเงินจดจำนองถึง 1.6 แสนล้านบาท

– รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมและผลตอบรับหลังการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.บรรยากาศเริ่มดีขึ้น อัตราการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเฉลี่ย 2,000-3,000 คน/วัน นักท่องเที่ยวจากสหรัฐมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็น เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน ผ่านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมและมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด

– การท่าเรือฯ ลุ้น’บิ๊กตู่’เคาะวันลงนามแหลมฉบัง เฟส 3 คาดเร็วสุดจรดปากกากิจการร่วมค้า GPC พ.ย.นี้ ผลตอบแทนขั้นต่ำเฉียด 3 หมื่นล้าน ตลอดสัมปทาน 35 ปี รับเงินกว่า 8.7 หมื่นล้าน

– การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 7 พันธมิตรองค์กรธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ผ่านระบบออนไลน์ในโครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในพื้นที่มาบตาพุด สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ตามนโยบาย BCG โมเดล และยกระดับมาตรฐานนิคมอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ 4.0 พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค นำเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน การผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่หลากหลาย

หุ้นเด่นวันนี้

– BDMS (กรุงศรี) “ซื้อ”เป้า 26 บาท แจ้งกำไรสุทธิ Q3/64 ที่ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40%qoq และ 73%yoy ดีกว่าที่คาดไว้ที่ 2.4 พันล้านบาท แนวโน้ม Q4/64 และปีหน้าคาดกำไรสุทธิฟื้นตัวต่อเนื่อง รับอานิสงส์ภาครัฐเปิดประเทศหนุนจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น

– SA (ทรีนีตี้) “ซื้อ”เป้า 14 บาท จากธุรกิจบริษัทหลากหลายทั้งจากธุรกิจเช่าระยะยาวของ Serviced Apartment ร้านอาหาร และ Cloud Kitchen และธุรกิจ AMC รวมทั้งความน่าสนใจการใช้ Branded Residence เข้ามาบริหารโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่โครงการ และยังไม่เน้นใช้การลดราคาจึงยังสามารถ Maintain Margin ได้ในระดับสูงที่ 35-40% พร้อมคาด Q4/64 ฟื้นตัวได้ QoQ จากมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่อนคลายลง หนุนยอดโอนและรายได้จากกลุ่มบริกา

– DITTO (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ”เป้า 21 บาท คาดผลการดำเนินงานเข้าสู่ช่วงเติบโตใน H2/64 โดยระยะสั้นคาดกำไร Q3/64 +26% Q-Q ตามการรับรู้รายได้และปริมาณงานในมือที่สูงขึ้นโดย Backlog ที่มีกว่า 650 ลบ. ทั้งนี้โมเมนตัม Q4/64 คาดเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และระยะยาวเติบโตตามเทรนด์ Digital Transformation และ Paperless โดย EPS ปี 2564 +10% Y-Y และเร่งขึ้นเป็น +35% Y-Y ในปี 2565 พร้อมให้แนวรับ 16.50-16.20 บาท แนวต้าน 17-17.20 ถัดไป 17.60 บาท

– BGRIM (เคทีบีเอสที) “ซื้อ”เป้า 55 บาท ลงทุนพลังงานทดแทนในมาเลเซียมูลค่า 3.2 พันล้านบาท มีมุมมองเป็นบวกต่อพัฒนาการในการขยายธุรกิจ โดยการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 163MWe (โดยมีกำลังการผลิตที่ COD แล้วราว 36MW ส่วนที่เหลือจะทยอย COD จะถึงปี 66) ทั้งหมดเป็นโซลาร์ฟาร์ม มี FiT อยู่ที่ 0.06-0.09 USD/หน่วย เบื้องต้นหากอิงสมมติฐาน EIRR 12%, D/E 3x คาดสร้างมูลค่าเพิ่มต่อหุ้นอีกราว 1 บาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 64)

Tags: , ,