หัวเว่ยซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีจุดยืนของบริษัท หลังจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกแบนบริษัทโทรคมนาคมของจีน เช่น หัวเว่ย และ แซดทีอี จากเครือข่าย 5G
รายงานดังกล่าวระบุว่า นายเธียร์รี เบรตัน หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า เขาต้องการให้ประเทศสมาชิก EU ถอดซัพพลายเออร์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หัวเว่ย และแซดทีอี ออกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ โดยอ้างถึงความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้ หัวเว่ยได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ โดยระบุว่า หัวเว่ยมีจุดยืนต่อต้านและไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับความคิดเห็นจากตัวแทนของ EU ที่มีในประเด็นนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นความคิดเห็นที่ไม่ได้อิงมาจากการตรวจสอบซึ่งได้รับการยืนยัน มีความโปร่งใส มีความเป็นกลาง หรือใช้หลักการประเมินเชิงเทคนิคสำหรับโครงข่าย 5G แต่อย่างใด
หัวเว่ยเข้าใจในข้อวิตกกังวลของ EU ที่ต้องการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ประเทศในกลุ่ม EU อย่างไรก็ตาม กฎข้อห้ามและข้อยกเว้นต่าง ๆ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการเลือกปฏิบัติจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอันใหญ่หลวง สร้างความเสี่ยงในภาคสังคม และยังจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรม รวมถึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในตลาดของยุโรป ซึ่งจากรายงานของ Oxford Economics ระบุว่า การกีดกันหัวเว่ยจะทำให้ต้นทุนด้านการลงทุนในเทคโนโลยี 5G เพิ่มสูงขึ้นหลายหมื่นล้านยูโร และสุดท้ายจะส่งผลให้ผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระในเรื่องนี้
หัวเว่ยยังระบุด้วยว่า การเลือกปฏิบัติโดยแยกนิติบุคคลออกมาเป็น ‘ผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูง’ อย่างเปิดเผย โดยไม่มีการตรวจสอบและไม่มีข้อกฎหมายรองรับนั้น ขัดต่อหลักการค้าเสรี และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำว่า การประเมิน ‘ผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูง’ แบบเลือกปฏิบัติไม่ควรถูกนำไปใช้กับผู้ค้ารายใดโดยปราศจากกระบวนการที่เป็นธรรมและการพิจารณาที่รอบคอบมากเพียงพอ ในฐานะบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจใน EU หัวเว่ยมีสิทธิทั้งในเชิงกระบวนการและเชิงเนื้อหา และควรได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายของ EU และประเทศสมาชิก ตลอดจนข้อสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งหมด
หัวเว่ยให้ความสำคัญสูงสุดในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดตัวศูนย์ความโปร่งใสด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับโลก (Cyber Security Transparency Center) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยเปิดให้บริการแก่ลูกค้าและองค์กรทดสอบอิสระภายนอก เพื่อทำการทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเที่ยงธรรม ตรงตามวัตถุประสงค์และเป็นอิสระตามมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดซึ่งได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรม เรายังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการรับรองและเชื่อถือได้ทั่วโลก เพื่อเชื่อมต่อและสร้างความเท่าเทียมของประชากรชาวยุโรปหลายล้านคน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 66)
Tags: EU, หัวเว่ย, เครือข่าย 5G