หอการค้าโพล คาดเงินสะพัดเปิดเทอมปี 66 สูงสุดรอบ 14 ปี แตะ 5.7 หมื่นลบ.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปี 66 พบว่า การจับจ่ายใช้สอยของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปีนี้ จะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 57,885.63 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 62 ที่ 5.30% โดยในปีนี้ถือว่ามีมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุด นับตั้งแต่หอการค้าทำการสำรวจมา (ในรอบ 14 ปี) ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของปี 66 อยู่ที่ 19,507.33 บาท/คน เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 62 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 18,299.94 บาท/คน

“การใช้จ่ายฟื้นตัวจากปีที่แล้ว และฟื้นตัวจากปี 62 และปรับตัวดีสุดในรอบ 14 ปี ดังนั้น ในไตรมาสที่ 1-2/66 เศรษฐกิจฟื้น แต่ฟื้นแบบ K-shape คนยังระมัดระวังจากการจับจ่ายใช้สอย เพราะบางกลุ่มมีเงินพร้อมใช้ แต่บางกลุ่มยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูง จากผลสำรวจพบว่า 37.8% ผู้ปกครองใช้จ่ายเท่าเดิม และ 29.9% ใช้จ่ายมากขึ้น โดยปัจจัยของการใช้จ่ายที่มากขึ้น หลักๆ มาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ พบว่าผู้ปกครอง 36.5% ระบุว่า มีเงินไม่พอใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม จึงมีการเบิกเงินจากบัตรเครดิต/ บัตรกดเงินสดมากขึ้น รองลงมา คือจำนำทรัพย์สิน กู้เงินในระบบ และยืมญาติพี่น้อง ตามลำดับ ในส่วนของผู้ที่ตอบว่าเงินมีเพียงพอใช้จ่าย อยู่ที่ 63.5% หรือสูงสุดนับตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นมา

“36.5% ที่บอกว่าเงินไม่พอ ได้มีการกู้เงินในระบบและนอกระบบ ซึ่งนอกระบบมีประมาณ 7% ซึ่งถือว่าไม่มาก ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไม่ดี หรือจะกลายเป็นปัญหาเพิ่มหนี้สินในระยะยาว เพราะเป็นเพียงการหมุนเวียนเงินในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น และสัดส่วนผู้ปกครองที่ตอบว่ามีเงินไม่เพียงพอ ถือว่าต่ำสุดในรอบ 8 ปี หรือตั้งแต่ปี 59” นายธนวรรธน์ กล่าว

แนะรัฐบาลชุดหน้าควรปฏิรูประบบการศึกษา

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการเลือกตั้งล่วงหน้าวานนี้ (7 พ.ค.) จะเห็นได้ว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก ดังนั้น เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 14 พ.ค. นี้ จะมีบรรยากาศคึกคัก และคาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 60%

ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่มีภาระเชิงเศรษฐกิจสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1. ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในเวลาอันรวดเร็ว 2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจและสังคมไทย และ 3. ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ และทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น

จากการสำรวจของ International Institute for Management Development (IMD) และ World Economic Forum (WEF) พบว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับปานกลาง โดยจุดที่มีความเปราะบางสูง คือ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการศึกษา วิทยาศาสตร์ และประสิทธิภาพของแรงงาน ซึ่งประเด็นเรื่องการศึกษา คือการตอบโจทย์ปัญหาในระยะปานกลาง-ระยะยาว

ดังนั้น รัฐบาลชุดหน้า ควรเน้นเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือจะมีผู้เสียภาษีน้อยลง จึงต้องเพิ่มทักษะแรงงานโดยเร่งด่วน ด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษา

จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองด้านการศึกษา พบว่า กว่า 80% เห็นด้วยมากกับนโยบายโครงการให้อาหารฟรีให้กับเด็กนักเรียน และนโยบายกำจัดระบบแป๊ะเจี๊ยะ และกว่า 70% เห็นด้วยมากกับนโยบายมีโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น และนโยบายเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ขณะที่กว่า 60% เห็นด้วยมากกับนโยบายสร้างเด็กไทย 3 (ภาษาไทย/ ต่างประเทศ/ Coding) และกว่า 50% เห็นด้วยมากกับนโยบายยกเลิกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ผู้ปกครองต้องการให้รัฐช่วย-ปรับปรุงการศึกษาด้านใด

1. สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านการศึกษาในปัจจุบัน คือ

– ช่วยเหลือ/ควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าบำรุงต่างๆ ค่าเครื่องแบบนักเรียน

– พัฒนา เสริมสร้างบุคลากรด้านการศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว

– ควรมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่เข้มงวด และควรปรับเงินเดือนครูให้มีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ โดยเฉพาะกับเด็กปฐมวัย

– ควรปรับแนวการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับการพัฒนาการตามอายุ

– ควรมีการถอดบทเรียนทั้งด้านดี และต้านไม่ดีที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย เพื่อให้การศึกษาไทยสามารถพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป

2. สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน คือ

– เพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการศึกษาที่มีศักยภาพให้เพียงพอ

– ควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสม ในแต่ละช่วงอายุ และพัฒนาการของเด็ก

– พัฒนาเสริมสร้างโรงเรียนของรัฐบาลให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับเอกชน

– เพิ่มเวลาให้ครูสอนเด็กได้มากขึ้น ลดภาระด้านอื่นของโรงเรียนให้ครูผู้สอน

– ประยุกต์เกณฑ์ในการวัดผลที่วัดจากความสามารถที่หลากหลาย

– ควรมีการอบรมทั้งด้านวิชาการใหม่ๆ และจรรยาบรรณให้บุคลากรด้านการศึกษาเป็นประจำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 66)

Tags: , ,