หลากมุมมองความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ภายใต้นโยบาย “ทรัมป์ 2.0”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในงานสัมมนา “CIO Forum 2025” หัวข้อ “Thai Economic Outlook 2025” โดยระบุว่า สภาพัฒน์ประเมินว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในกรอบ 2.3-3.3% หรือค่ากลางที่ 2.8% โดยมีแรงขับเคลื่อนจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การลงทุนของภาครัฐ 2.การบริโภคภาคเอกชน 3.การท่องเที่ยว และ 4. การส่งออก

โดยในส่วนของการลงทุนภาครัฐ เชื่อว่าปี 68 นี้ จะมีเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐมากกว่าปีก่อน ประกอบกับมีงบที่กันไว้สำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกราว 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนี้รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากรายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐเข้ามาช่วย ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ด้านการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งรวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน ตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานของไทยอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูง และเป็นตัวเลขที่สามารถช่วยขับเคลื่อนการบริโภคได้เป็นอย่างดี

ส่วนการท่องเที่ยวนั้น เชื่อว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน แม้อาจมีปัจจัยชั่วคราวที่เข้ามารบกวนบ้าง เช่น กรณีของดาราจีน ที่อาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการที่นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาไทย แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะสามารถแก้ไขปัญหา และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ โดยปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเดินทางเข้าไทยประมาณ 37-38 ล้านคน

ขณะที่การส่งออกในปีนี้ จะยังได้รับโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องจากปี 67 ที่การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในไตรมาส 3 และ 4 โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเข้าสู่วัฎจักรขาขึ้นทำให้การส่งออกจะเติบโตได้ดี อย่างไรก็ดี จะต้องจับตานโยบายการค้าภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ว่าจะมีมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใด

“วันที่ 17 ก.พ.นี้ สภาพัฒน์จะแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4/67 และทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 68 ต้องรอดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ จากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะออกมา ซึ่ง ณ วันนี้เรายังมองการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 2.8% โดยการลงทุนของภาครัฐ จะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยว และการส่งออก” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ

นายดนุชา มองว่า นอกจากเศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยเฉพาะปัจจัยที่ต้องให้น้ำหนักมากที่สุด คือ 1.ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายในการนำของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” 2.ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน 3.การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารประเทศหลัก ซึ่งหากมองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจจะต้องพิจารณาใหม่ 4.สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ซึ่งยังแก้ปัญหาภายในไม่ตก ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ และการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้า

“หลังจาก 20 ม.ค. เราคงจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ช่วงครึ่งปีแรก ไทยอาจจะยังขี่พายุได้ในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องระมัดระวัง และบริหารความเสี่ยงให้ดี โดยเฉพาะผู้ส่งออก ต้องไม่ลืมว่าเราได้ดุลการค้าจากสหรัฐค่อนข้างมาก แม้จะไม่สูงเท่ากับจีน และเวียดนาม แต่ไทยเอง ก็มความเสี่ยงในแง่ที่จะโดนกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ได้” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

พร้อมมองว่า สิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินการในระยะถัดไปเพื่อช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ 1.ต้องลงทุนเพิ่มเติมในนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทำให้ออกมาเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น 2. ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อาหารสำเร็จรูป และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 3.ยกระดับคุณภาพแรงงานไทย และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ 4.การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างยั่งยืน และ 5.การปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

นายอาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยทิศทางของสงครามการค้าว่า สงครามการค้ารอบใหม่ หรือ Trade War 2.0 แตกต่างจาก Trade War รอบแรก โดยทรัมป์มีแนวโน้มจะกีดกันทางการค้ากับทุกประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทย ต่างจากรอบแรกที่เน้นการเก็บภาษีไปที่จีน

ด้านนายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวถึงประเด็นสงครามการค้า (Trade War) ว่า การที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า มีสาเหตุมาจากการที่สงครามการค้ารอบแรกที่มุ่งเน้นเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นหลักนั้น กลับไม่ได้ส่งผลเสียกับจีนมากเท่าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ เนื่องจากจีนมีการย้านฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกลายเป็นการส่งผลดีกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไปด้วย

ดังนั้น สงครามการค้ารอบนี้ มีโอกาสที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า และทำให้ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน และประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐมีมากกว่าสงครามการค้ารอบแรก

“ผลกระทบจาก Trade War จะมากหรือน้อย ขึ้นกับ 3 ประเด็นหลัก คือ Size, Timing และ Uncertainty” นายมานะ ระบุ

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting ให้มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ว่า เป็นการปฎิวัติยุคใหม่ โดยเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการกำเนิดของระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม และการปฎิวัติ AI นี้ต่างจากการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งก่อนๆ ที่เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ AI นั้นมาพร้อมกับการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถไปพร้อมกัน

นายประมุข มาลาสิทธิ์ Head of Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย และ Mr. Matthew Quaife Global Head of Multi Asset Investment Management จาก Fidelity International ได้ให้มุมมองการลงทุน ปี 2025 โดยมี 6 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น เงินเฟ้อในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่าง ความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ที่กลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบาง และการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน

พร้อมมองว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2568 นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่การปรับขึ้นในรอบนี้ จะขยายตัวไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งมีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ และแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น สำหรับตลาดเกิดใหม่ เห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน และอินเดีย

ด้านตราสารหนี้ มีมุมมองให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) บอนด์ยีลด์ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ตราสารหนี้ High Yield ของสหรัฐฯ และตราสารหนี้เอกชนยุโรปยังน่าสนใจ ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ มองว่า ราคาทองคำจะสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกรอบ มีปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางตลาดเกิดใหม่ และมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่งตลอดปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 68)

Tags: , ,