นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่นตัว แนะนำให้คนไทยพึ่งตัวเองให้มากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ และกังวลว่าไวรัสโควิดอาจกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างเดลตา (อินเดีย) กับเบตา (แอฟริกาใต้) รวมถึงจับตา “เอปซิลอน” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลไม่แพ้กัน
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับความจริงของสถานการณ์และต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่น่าจะเรียกว่าระลอกสี่ เพราะสามยังไม่ทันจบสิ้น และคนติดเชื้อลุกลามไปทั่วโดยยังควบคุมไม่ได้ อาจเรียกเป็น “ระลอกสามภาคพิสดาร” ตอนนี้ ที่ป่วยหนัก หาเตียงไม่ได้ เข้าไอซียูไม่ได้ ไม่ใช่เดลตาทั้งหมด แม้สายอัลฟาก็หนัก เอาไม่อยู่ และไม่นานก็แทรกด้วยเดลตา และจ่อด้วยเอปซิลอน B.1.429 (S13I, W152C, L452R ที่ spike) ที่กลายเป็นสายที่ต้องวิตกกังวลแล้ว และสายเดลตาก็ชุกชุมขึ้นเรื่อยๆ”
นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
นพ.ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า มีการไขความลับสายเดลตา โดยการที่ไวรัสดึงให้เซลล์ที่ติดเชื้อให้ไปแนบชิดกับเซลล์อื่น โดยไม่ต้องหลุดออกมาจากเซลล์เดิมเพื่อทะยานไปหาเซลล์ใหม่ ดังนั้น ระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง หรือในเยื่อบุ ทั้งจากสร้างในร่างกายและจากวัคซีนเองเช่นจาก mRNA จะไม่เห็นและขัดขวางไม่ได้ จึงเป็นเครื่องอธิบายว่าทำไมถึงติดต่อได้เร็ว และอาการของโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น แม้ Markus Hoffman of Georg-August-University Gottingen in Germany ซึ่งเป็นคณะผู้รายงานยังเชื่อว่าวัคซีนก็ยังลดความรุนแรงได้ แต่คงไม่นานก็คงจะมีเดลตาพลัส ซึ่งบรรจุลักษณะเด่นของสายแอฟริกาเข้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใดก็ตาม แต่ปัญหาคือ ประการที่หนึ่ง การรักษาขณะนี้วิกฤติมาระยะหนึ่งแล้ว
ประการที่สอง ขณะนี้การระบาดของโควิดเพิ่งเงยหัวตัวยังไม่มา คนที่ยังไม่ได้ตรวจ และตัวเลขคนที่ต้องรอที่บ้านทั้งที่รู้ว่าตัวเองติดแล้วจากการตรวจ และที่รู้ว่าตัวเองติดแน่ เพราะคนรอบตัวและทั้งบ้านติดไปหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ตรวจ เพราะไม่มีที่ไหนรับตรวจ ยังมีอยู่มาก
ประการที่สาม วัคซีนที่ใช้ขณะนี้ประสิทธิภาพจำกัดคือ ซิโนแวค มีจำนวนมากที่ระดับภูมิยับยั้งไวรัสไม่ให้ติดสูงไม่มากพอ และหมอพยาบาล เจ้าหน้าที่หลังฉีดวัคซีนแล้วครบหนึ่งเดือนก็พบว่าติดเชื้อแม้อาการอาจไม่มาก แต่ที่น่ากลัวกลับกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่ทรงประสิทธิภาพไปยังเพื่อนร่วมงานและไปยังผู้ป่วยได้
ประการที่สี่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เรียกร้องวัคซีนยี่ห้ออื่นซ้ำต่อจากที่ฉีดไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไทยที่มีอภิสิทธิ์ แต่เพราะกลัวจะแพร่ไปหาคนอื่นอย่างกว้างขวาง และนี่เป็นเหตุผลที่เรียกร้องให้มีวัคซีนหลากหลาย และมีจำนวนพอเพียง
ประการที่ห้า การให้ไปรักษาที่บ้านต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยด่วน
ประการที่หก จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจรให้เลย ส่วนประชาชนจะหายาฆ่าพยาธิมาใช้วันละหนึ่งเม็ดขนาด 12 มิลลิกรัมไปห้าวัน ใช้เมื่อมีอาการแล้วก็ไม่น่าผิด และจะควบกับน้ำมันกัญชาก็ไม่น่าผิดเช่นกัน เพราะช่วยลดการอักเสบและการปวดทรมานของร่างกาย
ประการที่เจ็ด เรื่องยาฆ่าพยาธิ ไอเวอเมคติน จนปัจจุบันมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้จริง และประเทศอังกฤษเริ่มบรรจุเข้าในการวิจัยจริงจัง
ประการที่แปด ถ้าปล่อยให้ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยไม่รู้ว่าใครติด ใครไม่ติด คงไม่มีทางระงับการแพร่กระจายของโรคระบาดนี้ได้ การตรวจคัดกรองที่เข้าถึงได้ยังไม่มี
ประการที่เก้า ราชวิทยาลัย อายุรแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องการจัดการ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนหลากหลายไปแล้ว คงไม่ต้องทำวิจัยหรืออ่านตำรามาแสดงดูสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้
ประการที่สิบ ชัดเจนแล้วเด็กเล็กเด็กโตติดกันหนาแน่นในประเทศไทย ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะใช้วัคซีนเชื้อตายที่ถึงแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูงเยี่ยมเทียมเท่ากับวัคซีนชนิดอื่นมาให้เด็กทั้งหมด โดยที่ประเทศจีนใช้วัคซีนแล้วในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายก็เป็นเหมือนเช่นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กจนถึงแก่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, Sinovac, ซิโนแวค, ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, ฟ้าทะลายโจร, ยาฟาวิพิราเวียร์, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์เดลตา, โควิดสายพันธุ์เดลตาพลัส, โควิดสายพันธุ์เอปซิลอน