หน้าร้อนเตือนระวังฮีทสโตรกในผู้สูงอายุ สธ.แนะวิธีป้องกัน

นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคลมแดด (Heatstroke) เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมาก จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน พบได้มากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนจัด โดยผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ลดลง ประกอบกับมักมีโรคประจำตัว หรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้

ปกติร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหาร และสร้างความร้อนจากภายในตัวตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เช่น ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะ ทางผิวหนังร่วมกับต่อมเหงื่อ

แต่เมื่ออยู่บริเวณที่มีอากาศร้อนจัด ร่างกายจะระบายความร้อนได้ยาก ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้น และร่างกายขาดน้ำมากขึ้น หากไม่ได้รับน้ำทดแทนที่เพียงพอ จะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจเกิดอาการ shock เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นพ. ณัฐพล สุทธิสุนทรินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์ในการวินิจฉัยอาการป่วยจากโรคลมแดด (Heatstroke) มีดังนี้

1.ร่างกายมีอุณหภูมิสูง ตั้งแต่ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือชัก

3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน หรือออกกำลังกายหนัก

สำหรับวิธีการป้องกันโรคลมแดดในผู้สูงอายุ มีดังนี้

1.การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง

2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี

3. อยู่ในสถานที่ที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

4. อาบน้ำเย็นบ่อยๆ

5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

6. ลดการออกกำลังกาย หรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน

7. ญาติหรือผู้ดูแล ควรติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ใช้พัดลมพัดเพื่อระบายความร้อน และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , ,