สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหากากแคดเมียม พร้อมข้อเสนอแนะต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้
1. ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (โรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก) มีภาระความรับผิดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 โดยได้มีการดำเนินงาน ดังนี้
-
ในกรณีนี้ มีการขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานกับอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว
-
มีการขนกากแคดเมียม จากโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก ซึ่งขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากอันตราย (Hazardous waste) ของโรงงานต้นทางไปยังปลายทาง โรงงาน 106 ที่ได้รับอนุญาตหลอมหล่ออลูมิเนียม ที่จังหวัดสมุทรสาคร (ผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor: WP) จำนวน 13,xxx ตัน ซึ่งในกรณีที่ของเสียยังไม่ได้รับการบำบัดกำจัดแล้วเสร็จ ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) จึงยังมีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566
-
ตามรายงานอีไอเอของโรงงานถลุงสังกะสี จังหวัดตาก ได้ระบุว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายให้ฝังกลบแบบถาวร
2. ผู้รับบำบัดจำกัด (โรงงานประเภท 106) และรับหลอมหล่ออลูมิเนียม (โรงงานประเภท 60) จังหวัดสมุทรสาคร
2.1 กากของเสียฯ ต้องมีการจัดการตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องทำ Mass Balance เพื่อป้องกันการสูญหายจากกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดทำ Mass Balance ควรจะต้องมีระบบรายงานที่ทันเหตุการณ์มากกว่าระบบ offline ดังเช่นในปัจจุบัน
2.2 ในทางกฎหมาย ร้านค้าของเก่าไม่สามารถรับของเสียอันตรายจากโรงงาน 106 ได้ ในกรณีนี้เกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับของเสียอันตรายที่ถูกต้อง และการกำกับดูแลร้านค้าของเก่าที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารและให้ความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น
2.3 นักลงทุนต่างประเทศ นำกากของเสียฯ นี้ไปหลอมหรือส่งออกไปในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นโรงงาน กรณีนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายเรื่อง นอกจากเรื่องกากแคดเมียมในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นปลายทางให้กับร้านค้าของเก่า
2.4 ในมุมของ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG)” ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องตระหนักและยึดหลัก CG ในการปฎิบัติงานที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสามารถติดตามเส้นทางและป้องกันการสูญหายระหว่างทาง และสามารถควบคุมผลกระทบที่อาจจะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้มีประสิทธิภาพขึ้น
จากบทเรียนนี้ ประเด็นสำคัญ คือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (WG) มีภาระความรับผิดในระยะยาวตามกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องเลือกผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (WP) ที่น่าเชื่อถือ และมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน
1. ส.อ.ท. ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออกมาตรฐานและมอบตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor ซึ่งจะช่วยให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม สามารถแยกแยะผู้ประกอบการโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพออกจากกันได้ชัดเจนขึ้น
-
ปัจจุบันมีโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสีย ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor แล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมขอการรับรองอีก 16 แห่ง
-
ภายในปี 68 โรงงาน 101,105 และ 106 ที่เป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. (จำนวน 76 แห่ง) และโรงงาน 101,105 และ 106 ในนิคมอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ระบบนี้ทั้งหมด ซึ่งเกินกว่า 80% ของผู้ให้บริการบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมในตลาดปัจจุบัน จะทำใหัโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย สามารถคัดเลือกโรงงานปลายทางที่เป็นผู้รับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาก
-
นอกจากนี้ ส.อ.ท. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เชิญชวนบริษัทชั้นนำในประเทศไทย 4 องค์กร (SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA) และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมประกาศเจตนารมณ์การสนับสนุนเลือกใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้สอดคล้องนโยบายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)
2. สนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ให้เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. เพื่อรวมศูนย์การพัฒนา สื่อสาร ส่งเสริม และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ
-
เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภท 101, 105 และ 106 มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลาง การพัฒนา สื่อสาร การส่งเสริม และการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ซึ่ง ส.อ.ท. มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้
-
ช่วยลดภาระการกำกับดูแลของภาครัฐลงได้อีกมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมให้ ส.อ.ท. เป็นศูนย์การการจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อม คู่ขนานไปกับกฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ
3. ผลักดันการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามคุณสมบัติของการสิ้นสุดความเป็นของเสีย (End of Waste) คือ (1) เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ (2) มีตลาดหรือความต้องการใช้ (3) เป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนด และ (4) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยหรือสิ่งแวดล้อม โดยการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อลดการนำกากของเสียไปฝังกลบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 67)
Tags: ของเสีย, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงงาน