นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะภัยแล้งที่ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรออกน้อย, โรคระบาดในสัตว์จากสภาพอากาศแปรปรวน และการปรับขึ้นราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูปเกินกว่าต้นทุนแท้จริง ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 ที่เฉลี่ย 6.08% เกิดจากราคาพลังงานและอาหารสดปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ได้ทยอยปรับตัวลดลงแล้ว ทั้งราคาน้ำมัน ราคาเนื้อหมูเนื้อไก่ที่ขึ้นไปก็ปรับลดลงแล้ว แต่จะเห็นว่าราคาอาหารสำเร็จรูป ทั้งข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ปรับราคาขึ้นไปแล้วไม่ยอมลดลง
“การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ไม่ใช่ขึ้นค่าแรงอย่างเดียว ต้องควบคุมเรื่องต้นทุนสินค้าด้วย โดยดำเนินการควบคู่กันไป ไม่อย่างนั้น ขึ้นเท่าไร ก็ไม่พอหรอก” นายมนตรี กล่าว
สำหรับรายการสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อทั่วไป ได้แก่ กระเทียม/หอมหัวใหญ่ เพิ่มขึ้น 21.91%, น้ำมัน/ไขมันพืชหรือสัตว์ เพิ่มขึ้น 16.60%, ไข่ไก่/นมผง เพิ่มขึ้น 16.34%, สุกร/เนื้อสุกร เพิ่มขึ้น 12.89% ส่วนรายการสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อพื้นฐาน ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก เพิ่มขึ้น 12.11%
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะ 3 ประการ คือ
1.ขอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าครองชีพและต้นทุนในการดำรงชีพ เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงค่าเดินทาง เป็นต้น
2.ขอให้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงกลไก เงื่อนไข และระยะเวลาในการปรับปรุงราคาสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับบริบทสินค้า
3.ขอให้ภาครัฐดูแลต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ปุ๋ย และอาหารสัตว์ รวมถึงต้นทุนด้านอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)
Tags: ค่าครองชีพ, ค่าแรง, มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, ส.อ.ท., เศรษฐกิจไทย