สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดตัว สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟท์พาวเวอร์ Creative Industry and Soft Power Institute (CISPI) เพื่อผลักดันให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยอัตลักษณ์ไทย ตลอดจนส่งเสริมเรื่องการสร้างแบรนด์ของสินค้าไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกระยะยาว โดยเตรียมนำร่องใน 6 สาขาที่มีความพร้อม ได้แก่ อาหาร แฟชั่น อัญมณี เกม Wellness และซอฟท์พาวเวอร์ในแต่ละท้องถิ่น
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้กำหนด 6 กลุ่มงานนำร่องในการพัฒนา ได้แก่ อาหาร แฟชั่น อัญมณี เกม Wellness และซอฟท์พาวเวอร์ภูมิภาค ดังนี้
– อาหาร เป้าหมาย คือ อาหารไทยสู่ Top 10 โลก โดยใช้ “THAI SELECT” ของกระทรวงพาณิชย์เป็น Umbrella Brand รับรองมาตรฐานรสชาติอาหารไทย ตั้งแต่ระดับปลายน้ำ คือ ร้านอาหาร จนถึงต้นน้ำของซัพพลายเชน คือ วัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหารไทยที่มาจากภาคการเกษตร โดยมีโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) และโครงการอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI) ของ ส.อ.ท. ร่วมพัฒนา
– แฟชั่น เป้าหมาย คือ การสร้างแบรนด์แฟชั่นไทย สู่ Top 10 โลก โดยพัฒนาร่วมกับผู้ออกแบบและซัพพลายเชน ตลอดจนส่งเสริมการทำนวัตกรรมในอุตสาหกรรมแฟชั่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบ ตลอดจนการพัฒนาวัสดุที่ยั่งยืน
– อัญมณี มีหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ (Gem & Jewelry)
– เกม มีเป้าหมายทดแทนเกมนำเข้าด้วยเกมไทยในสัดส่วน 10% ของยอดนำเข้า ซึ่งประเมินมูลค่าได้ถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยนักสร้างสรรค์เกมไทยที่มีศักยภาพ
– ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) มีเป้าหมายเพื่อนำเสน่ห์แห่ง Wellness ของไทยให้เป็นแบรนด์ที่สร้างความประทับใจและพึงพอใจทั่วโลก
– ซอฟท์พาวเวอร์ภูมิภาค ด้วยการสร้างโมเดลผ่านการสร้างสื่อเข้าถึงง่าย ทั้งทางรายการโทรทัศน์และช่องทางออนไลน์ เป็นรายจังหวัดสู่สาธารณะในวงกว้าง การแนะนำ Soft Power ของจังหวัดในรูปแบบคนท้องถิ่น รวมทั้งการแนะนำผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดและกำหนดแบรนด์
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟท์พาวเวอร์จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งหากจะพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจต้องอาศัยการพัฒนาบุคลากรทั้ง upskill-reskill เป็นสำคัญ โดยตั้งเป้าให้มีการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้ได้ราว 20 ล้านคน ซึ่งหากแต่ละคนมีรายได้ปีละ 2 แสนบาทก็จะสร้างรายได้มากถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท และทำให้จำนวนคนยากจนลดลง
“รายได้ของซอฟท์พาวเวอร์มีที่มาจากหลายทาง อย่างเช่นเวลาที่บัวขาว (บัญชาเมฆ) ไปขึ้นชกก็จะทำให้ต่างชาติสนใจเรื่องมวยไทย ยิมสอนมวยก็มีรายได้ คนตัดชุดนักมวยก็มีรายได้ คนขายอุปกรณ์เกี่ยวกับมวยก็มีรายได้ คนที่ขายน้ำมันนวดก็มีรายได้ ซอฟท์พาวเวอร์เรามีมานานแล้วแต่ไม่ได้ส่งเสริมอย่างเป็นระบบและครบวงจร” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์เกิดขึ้นจากวิกฤต ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ปัญหาการกีดกันทางการค้า ทำให้เราต้องหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน เหมือนที่คนอีสานพยายามที่จะเอาชนะความกันดารแห้งแล้ง สถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นเหมือนตอนที่เริ่มทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ เราต้องทำให้ประเทศไทยเป็น Service of the World
“เรื่องอาหารไทยต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รสชาติแบบไทยจริงๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดส่งออกวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าเอาเครื่องปรุงท้องถิ่น รสชาติจะแตกต่างจากต้นฉบับ” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากมายจากการเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่สร้างความท้าทายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น สงครามการค้า ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี การก่อจารกรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น อีกทั้งความท้าทายเหล่านี้ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยปี 2568 ในหลายๆ ด้านทั้งปัจจัยด้านบวกและลบ โดย ส.อ.ท. ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมที่จะกลายเป็นดาวเด่นในปีนี้และอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Soft Power ถือเป็นหนึ่งในนั้น เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และไม่มีใครจะมาลอกเลียนแบบได้ โดยต้องพัฒนาผ่าน 4 แนวทางคือ
1.นำเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอมามาช่วยในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า อำนวยความสะดวกและประสัมพันธ์ 2.นำเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า 3.ปรับกระบวนการผลิตและใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 4.พัฒนามาตรฐานสินค้าในระดับสากลและขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
“ในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยซอฟท์พาวเวอร์ไทย ประเทศไทยถือว่ามีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การผลิตที่ละเอียดลออ งดงามผ่านความคิดสร้างสรรค์ และไทยมีโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี” นายเกรียงไกร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 68)
Tags: Soft Power, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย