นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่าสถานการณ์ค้าปลีกไทยในช่วงครึ่งปีหลังปี 68 มีสัญญาณชะลอตัวมากกว่าเดิม โดยมีปัจจัยท้าทายจากสงครามการค้าสหรัฐ กดดันภาคการส่งออกของไทย โดยภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ กำหนดต่อไทยที่ 37% คาดว่าจะกระทบการส่งออกไทยราว 8.8 แสนล้านบาท ประกอบกับนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ ทำให้สินค้าจากจีนทะลักเข้าไทยเพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 68 ลงอยู่ที่ 1-1.4% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.7-3%
ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวจะกระทบกับภาคค้าปลีกโดยกระจายในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะค้าปลีกระดับกลางและระดับล่าง หรือสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากไม่สามารถเจรจาภาษีได้ จะกระทบต่อรายได้ภาคการผลิต ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและส่งผลต่อรายได้ของภาคแรงงานที่ลดลง ทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยปี 68 ยังได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง กำลังซื้อหดตัว ซึ่งหากภาครัฐโปรโมทมีแนวทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่านักท่องเที่ยวมีโอกาสกลับมาได้
“ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว คือกำแพงภาษีสหรัฐ แน่นอนการส่งออกไทยจะเหนื่อยยิ่งขึ้น กระทบภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกำลังซื้อผู้บริโภคจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกจะยังเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราจึงต้องพยายามเติบโตต่อไป”
โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอดขายภาคค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัว โดยในช่วงปี 67-68 โตเฉลี่ย 3.4% (1.36 แสนล้านบาท) เทียบกับช่วงปี 65-66 ที่โต 5.9% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งปัจจุบันอยู่แต่ละประเทศอยู่ในช่วงของการเจรจาภาษี หากไม่สามารถเจรจาได้อาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งจะกระทบไทยอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันช่วงครึ่งปีหลังประเด็นภาษียังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหลายประเทศยังอยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งมองว่าจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้สินค้าจากจีนไหลเข้าสู่ประเทศรอบข้างรวมทั้งไทย ที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่สินค้าจีนทะลักเข้าไทยผ่านทางอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการรายย่อยข้ามแดน อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เสื้อผ้า และร้านอาคาร
โดยมองว่าภาคการผลิตของไทย ต้องมีการปรับตัว บริหารควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้น พัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างและมีคุณภาพที่ดี ขณะเดียวกันภาคบริการเป็นอีกภาคที่ทำได้ดี ดังนั้นต้องมีการสนับสนุนภาคบริการด้วยเช่นเดียวกันให้มีการแข่งขันได้
ทั้งนี้แนะแนวทางฟื้นฟูค้าปลีกด้วย กลยุทธ์ 3S (Shield Strike Shape) “ตั้งรับ รุกกลับ ปรับตัว” ประกอบด้วย
1. ตั้งรับ (Shield)
1.1 ป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ
- การตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% แทนการสุ่มตรวจ ด้วยระบบเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ
- ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด เช่น การมีมาตรฐาน มอก. และฉลากต้องเป็นภาษาไทย
1.2 ปราบปรามธุรกิจนอมินี
- จำเป็นต้องเร่งหามาตรการเชิงรุกในการจัดการธุรกิจนอมินี (Nominee) ที่สวมสิทธิ์คนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ ครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมศูนย์เหรียญ เพื่อยับยั้งการรั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย
- ป้องกันการสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ (Re-Export) ส่งผลให้ไทยเกินดุลสหรัฐ
2. รุกกลับ (Strike)
2.1 ค้าเสรีและเป็นธรรม
- จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก (จากเดิมสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทได้รับการยกเว้นภาษี) โดยออกเป็นกฏหมายบังคับใช้เป็นการถาวร
- ปรับปรุงกฏหมายที่มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมของ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาถูกที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้บริโภคคนไทย เช่น จัดให้มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติ (API) กับหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- ออกมาตรการรับมือกับสถานการณ์สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย อันเนื่องมาจากปัญหาการผลิตสินค้าเกินความต้องการภายในประเทศจีน (Oversupply) ซึ่งจีนจำเป็นต้องระบายสินค้าสู่ต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือมีการเลิกจ้างแรงงาน
2.2 ช้อปปิ้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Instant Tax Refund)
- เสนอการนำร่องมาตรการ Instant Tax Refund คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อสินค้าขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไป ต่อ 1 วันในร้านค้าเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับประเทศจีนที่ได้ประกาศใช้นโยบาย Instant Tax Refund 500 หยวน (ประมาณ 2,500 บาท) นำร่องที่เมืองท่องเที่ยวอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว
2.3 เขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Shopping Paradise Sandbox)
- พิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง น้ำหอม โดยอาจเริ่มที่สินค้าอเมริกาก่อน โดยนำร่องทำแซนด์บ็อกซ์เป็นเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็น Shopping Paradise ของภูมิภาค
- การลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์จากสหรัฐฯ เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าไทย–สหรัฐฯ และสร้างความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์คุณภาพจากต่างประเทศ
3. ปรับตัว (Shape)
3.1 การลดทอนกฏระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน (Regulatory Guillotine)
- ผลักดันมาตรการ Regulatory Guillotine เพื่อลดกฎระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน เช่น การปรับลดจำนวนและ ขั้นตอนการขอใบอนุญาตหลายใบให้อยู่ในใบเดียว (Super License) และผ่านระบบกลาง (Biz Portal) ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น ใบอนุญาตเปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และใบอนุญาตก่อสร้าง
3.2 การสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย (Championing Thai SME)
- รัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษี โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้ได้รับการรับรอง ‘Made in Thailand’ จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและขยายโอกาสในการส่งออก
- ส่งเสริมการมอบสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อการันตีคุณภาพอาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ
3.3 การมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี
- มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่าน BOI เพื่อจูงใจนักลงทุนไทยให้ลงทุนในเมืองน่าเที่ยวศักยภาพสูง เพื่อกระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 68)
Tags: ณัฐ วงศ์พานิช, ราคาสินค้า, เศรษฐกิจไทย