นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 294,896.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 83,745.52 ล้านบาท อัตราเติบโต 9.88% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 211,151.05 ล้านบาท ด้วยอัตราเติบโต0.68% และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 81%
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 45,851.44 บาท ลดลง 7.52% (2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว 37,894.08 ล้านบาท อัตราเติบโต 42.26% โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 142,804.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.39% มีสัดส่วน 48.43%
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 124,101.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.45% มีสัดส่วน 42.08%
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้า จำนวน 13,824.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.81% มีสัดส่วน 4.69%
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ จำนวน 7,133.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.75% มีสัดส่วน 2.42%
อันดับ 5 การขายผ่านช่องทางดิจิทัล จำนวน 370.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.63% มีสัดส่วน 0.13%
อันดับ 6 การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ จำนวน 19.64 ล้านบาท ลดลง 15.55% มีสัดส่วนเพียง 0.01%
อันดับ 7 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ จำนวน 6,642.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.20% สัดส่วน 2.25%
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูง เป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 21,598.72 ล้านบาท อัตราการเติบโตสูงถึง 96.05% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 46,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.54% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,243.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.74% แต่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทอื่น
“การที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน เติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึง 96.05% เนื่องจากแบบประกันดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ครบทุกช่วงวัย ทั้งเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น และเรื่องความคุ้มครองของประกันชีวิต” นายสาระกล่าว
สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งหลังของปี 2564 ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงมองว่าธุรกิจจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์การเติบโตไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อต้นปี 2564 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000 – 610,000 ล้านบาท หรือเติบโตระหว่าง -1 ถึง 1% ซึ่งเป็นการคาดการณ์แบบระมัดระวัง เนื่องจากทิศทางของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น
ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น พร้อมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนจึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)
Tags: ประกันชีวิต, ประกันภัย, สมาคมประกันชีวิตไทย, สาระ ล่ำซำ