ส่องธุรกิจ Modern trade ปี 68 แนะปรับตัวรับมือการแข่งขันสูง-ตอบโจทย์เทรนด์ ESG

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกประเภท Modern trade มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่ายังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านกำลังซื้อจากภาวะหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 และในปี 2568 ยังได้รับอานิสงส์ชั่วคราวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องทางออนไลน์ รวมทั้งความท้าทายจากการปรับกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเทรนด์ ESG

แนวโน้มการเติบโตของแต่ละธุรกิจค้าปลีกในปี 68

– ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการ Easy E-Receipt 2.0, โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป) และเฟส 3 ผ่านระบบดิจิทัล (กลุ่มอายุ 16-20 ปี) ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านระบบดิจิทัล เฟส 4 (กลุ่มอายุ 21-59 ปี) คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ราวไตรมาส 4 ซึ่งต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท/วัน ในพื้นที่ 4 จังหวัด 1 อำเภอที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายธุรกิจ Modern trade โดยเฉพาะกลุ่ม Modern grocery ที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่าปีนี้ ยอดขายกลุ่ม Modern grocery จะเติบโตต่อเนื่องที่ 4.6% มูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท

– ธุรกิจกลุ่ม Department store ในปี 2568 คาดว่ายอดขายจะเติบโตได้ราว 4.6% โดยแม้ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อที่ยังคงเปราะบาง และฟื้นตัวได้จำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น แต่ธุรกิจ Department store ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ จะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวยังมีความเสี่ยงจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของห้างสรรพสินค้า ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าภายใน Trump 2.0 ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชะลอตัวลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์

– กลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม คาดว่ารายได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในทุกช่วงวัย รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขายสินค้าประเภทนี้ เช่น ยา วิตามิน และอาหารเสริม ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มดังกล่าวอาจเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าของร้านค้าปลีกกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม จะเติบโตได้ราว 4.9% ในปี 2568 ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเติบโตของการขายสินค้ากลุ่มนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าง Marketplace และ Social Media ที่เอื้อให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

– กลุ่มร้านขายสินค้าเฉพาะทางในกลุ่มสินค้าตกแต่ง และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตได้ 4.5% ในปีนี้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากตลาด Renovate ที่อยู่อาศัย รวมถึงความต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมี.ค.68 อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตา คือ ความต้องการที่อยู่อาศัยปรับลดลงตามกำลังซื้อ และการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค ดังนั้น การขยายสาขาของร้านค้ากลุ่มนี้ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย ตอบโจทย์เทรนด์เรื่องความยั่งยืน และการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งด้านการติดตั้ง และบริการหลังการขาย

– ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลุ่มสินค้าแฟชั่น คาดว่าในปี 2568 ยอดขายจะเติบโตราว 4.6% ชะลอลงจากปีก่อน ซึ่งประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อไป คือ การแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าในกลุ่มนี้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่ากลุ่ม Fast fashion จะมีการเติบโตได้ดีกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีความสามารถในการปรับให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็ว มีราคาที่จับต้องได้ ซื้อได้บ่อยครั้ง และเข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้าง อย่างไรก็ดี จากสภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันยอดขายสินค้าประเภทแฟชั่น

ภูมิทัศน์ด้านการแข่งขันของ Modern trade แต่ละประเภท

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้เล่นที่มีหน้าร้าน และจากกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามารุกตลาดมากขึ้นน โดยนอกจากการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์แล้ว ยังต้องเน้นการสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความยั่งยืนร่วมด้วย

– ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Modern grocery ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง โดยพบว่ากลุ่ม Convenience store ยังมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามการขยายตัวของเมือง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ขณะที่กลุ่ม Supermarket และ Hypermarket มีแนวโน้มขยายสาขาอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายแม้จะเป็นสินค้าจำเป็นก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอสินค้าในแบรนด์ของตัวเอง (House brand) ที่แม้คุณภาพอาจด้อยกว่าบ้าง แต่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าของเงินได้มากขึ้น

– กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และความงาม เป็นอีกกลุ่มที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการดูแลสุขภาพ และการแพทย์เชิงป้องกันที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยผู้เล่นรายใหญ่มีการเปิดสาขาใหม่ รวมทั้งขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แต่ต้องระวังการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้ค้าปลีกขนาดเล็กที่เน้นการขายผ่าน E-commerce และมีกลยุทธ์ขายผ่าน Social media ในหลายรูปแบบที่โปรโมตสินค้าได้ดึงดูดความสนใจ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ดังนั้น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องเน้นสร้างความต่างจากธุรกิจขนาดเล็ก โดยอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

– กลุ่มห้างสรรพสินค้า เป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายสูงกว่ากลุ่มอื่น ทั้งความเสี่ยงด้านอุปสงค์จากกำลังซื้อที่เปราะบาง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมทั้งความเสี่ยงด้านอุปทานจากคู่แข่งในตลาดที่มีมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการในกลุ่มห้างสรรพสินค้าหันมาทำการตลาดผ่าน Omnichannel เพื่อให้เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น หรือแม้แต่การนำเสนอสินค้าหรือแบรนด์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากที่อื่น

– ธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยฉุดรั้งจากภาวะตลาอสังหาฯ ซบเซาแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกดดันให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องชูจุดขายของตัวเองเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น การเพิ่มประเภทสินค้าให้หลากหลาย, การนำเสนอสินค้า House brand ที่มีราคาต่ำกว่า ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ทั้งหน้าร้าน และออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง เช่น เทคโนโลยี AR/VR ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเห็นภาพเสมือนจริงถึงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่จริง เป็นต้น

SCB EIC ระบุว่า ในระยะต่อไป การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นในตลาด E-commerce ทั้งแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น กลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ขายสินค้าเฉพาะทาง เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพความงาม สินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย, สินค้าแฟชั่น ควรเน้นการปรับตัวด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจ่าย เพื่อสินค้าที่มีคุณภาพและความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนผู้ประกอบการและสินค้า Local มากขึ้น รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)

Tags: , , , ,