ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า ในปี 2568 อาจไม่ง่ายสำหรับภาคส่งออกไทย จากแรงกดดันภายนอกประเทศที่ท้าทายขึ้น โดยประเมินว่ามูลค่าส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้ราว 2% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเทียบการเติบโตของการส่งออกในปี 67
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมแนวทางเจรจา/ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อนโยบายภาษีนำเข้า Trump 2.0 ในช่วงปี 2568 โดยเฉพาะประเด็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิต และภาคส่งออกไทย ตั้งแต่ก่อนสงครามการค้ารอบใหม่จะเริ่มมีผลชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี
ส่งออกไทยปี 68 อาจไม่ง่าย ผลกระทบสงครามการค้าจะเริ่มเห็นชัด H2
แม้การส่งออกของไทย จะขยายตัวดีในช่วงท้ายปี 2567 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปช่วงต้นปี 2568 แต่การส่งออกของไทยระยะต่อไป จะเริ่มเจอแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ที่มาตรการกีดกันการค้าประเทศต่าง ๆ นอกจากจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่าประเทศไทยเสี่ยงสูงที่จะเจอนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการค้าเป็นหลัก สะท้อนจาก
- สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นเทียบช่วงทรัมป์ 1.0 : แม้สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับไทยมานานต่อเนื่อง แต่การขาดดุลยิ่งสูงขึ้นก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 64 โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก -2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2560-2563 (Trump 1.0) เป็น -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 จาก 99 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในปี 2566
- หลายงานศึกษาประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Trump 2.0 มาก สะท้อนจาก Trump Risk Index สูง และอาจติดเกณฑ์ประเทศเข้าข่าย “Unfair Trade” กับสหรัฐฯ : จากผลศึกษาของ Information Technology and Innovation Foundation (ITIF) พบว่าประเทศไทยมีคะแนน Trump Risk Index ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากเม็กซิโก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียจาก 38 ประเทศพันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลศึกษา Unfair Trade ของ Global Trade Alert (Nov 2024) ที่พบว่า ประเทศไทยจะติด 3 ใน 5 เกณฑ์ หากพิจารณาเกณฑ์เดียวกับที่ Trump 1.0 เคยใช้มาก่อน โดยไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่จะติดเกณฑ์นี้
- สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีความเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากนโยบาย Trump 2.0 : SCB EIC ประเมินว่ากว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และต้องการส่งเสริม Local supply chain อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้นโยบายจาก Trump 2.0 มีแนวโน้มจะกระทบภาคส่งออกไทยทั้งทางตรง และทางอ้อม
- ผลกระทบทางตรง (Direct impacts) : สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (17% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด) และไทยยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างสูง (รูปที่ 5 ซ้าย) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยโดยตรง จากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า Trump 2.0 อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจจำกัดในบางกลุ่มสินค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากไทย เนื่องจากผลิตในประเทศไม่พอความต้องการ
- ผลกระทบทางอ้อม (Indirect impacts) : ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นปลายที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และปัญหาจีนผลิตล้นตลาด (China’s overcapacity) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน (รูปที่ 6 ขวา) จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว
ขณะที่ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกไทย ขยายตัวสูงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ทั้งปี มีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% แม้ที่ผ่านมาส่งออกไทยจะเผชิญอุปสรรคตั้งแต่ต้นปี จากเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอลง และอุปสรรคการขนส่งทางเรือในโลกหลายที่ แต่ส่งออกไทยกลับได้แรงหนุนจากหลายปัจจัยบวกที่ชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว Soft landing ได้ การส่งออกทองคำสูงขึ้นมาก อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปสงค์ต่างประเทศเริ่มเร่งตัวจากความกังวลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในปี 2568
ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวมากถึง 5.2% จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปี 2567 อาจจะออกมาขยายตัวเกิน 4% สูงกว่าที่ SCB EIC และกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.9% และ 4% ตามลำดับ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2568 การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ชะลอตัวลงจากปีนี้ จากปัจจัยลบสำคัญ คือ สงครามการค้ารอบใหม่ และ โครงสร้างการส่งออกไทยที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก
1. สงครามการค้ารอบใหม่
คาดว่าต้นปี 2568 จะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งไทยมีความเสี่ยงอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น เนื่องจากไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ในระดับสูง และมีการย้ายฐานการผลิตสินค้าจีนมายังไทยเพิ่มขึ้นในช่วงสงครามการค้าครั้งแรก
โดยผลกระทบของสงครามการค้ารอบใหม่ ต่อการส่งออกไทยในตลาดต่าง ๆ แบ่งเป็น
- ทางตรง (ผลกระทบโดยตรงจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย) ผลต่อตลาดสหรัฐ คิดเป็น 18% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ได้รับอานิงส์จากการที่จีนเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตในไทย ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ เครื่องประดับ และยางรถยนต์
- ทางอ้อม (ผลกระทบทางอ้อมจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน) ผลต่อตลาดโลก ยกเว้น สหรัฐฯ และจีน คิดเป็น 70% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยสินค้าไทยอาจเผชิญกับการแข่งขันสูงขึ้นของสินค้าจีนที่เปลี่ยนทิศมาจากสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า และผลต่อตลาดจีน คิดเป็น 12% โดยสินค้าคาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน เช่น ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ อะลูมิเนียม
2. โครงสร้างการส่งออกไทยที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก
โดยการส่งออกไทย มีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยจำเป็นต้องผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโลกมากขึ้น เช่น SDD เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงไทยต้องปรับตัวให้ทันตามกฎระเบียบของตลาดโลกที่มีมากขึ้น อาทิ การเตรียมตัวเข้าสู่ระยะบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569
นอกจากนี้ สำหรับในปี 2568 ยังต้องติดตามผลการเจรจาและการลงนามในความตกลงทางการค้า FTA ซึ่งจะช่วยหนุนความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการขอใช้สิทธิ FTA เพิ่มขึ้น 2.11%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 67)
Tags: SCB EIC, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย