นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถคาดการได้แน่ชัดว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใช่วงที่เหลือของปี 64 ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่อง ส่งผลให้ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความน่ากังวล หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ และยังไม่สามารถเร่งการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างเร็ว
โดยเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลาดทั้งปีนี้ กระทบต่อการดำเนินกิจกรรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซื้อของคนในประเทศ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นกลับมา และความมั่นใจของภาคธุรกิจและนักลงทุน ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้านในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามยังคงติดตามสถานการณ์ในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หากสถานการณ์กลับมาดีขึ้นได้ก่อนเข้าสู่ช่วงไตรมาส 4/64 คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ ทำให้ธนาคารยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 64 ไว้ที่ขยายตัว 1.8%
สำหรับการใช้เงินในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น มองว่าภาครัฐได้ทยอยนำเงินมาใช้ในการเยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับประชาชนไปพอสมควร ซึ่งสามารถบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในระยะสั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามควรเร่งการควบคุมโควิด-19 และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้สามารถมีความมั่นใจในการกลับมาเปิดเมือง ทำกิจกรรมต่างๆปกติอีกครั้ง และลดความกังวลในการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งมือทำ
นายทิม กล่าวต่อว่า ส่วนเงินที่จะนำมาใช้ในการฟื้นฟูนั้นควรนำมาเริ่มใช้หลังจากที่แนวโน้มของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศจะไม่กลับมาระบาดอีกครั้ง เพราะจะทำให้การใช้งบประมาณเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเห็นผล หากเร่งทำในช่วงที่ภาวะยังคลุมเครือจะเป็นความเสี่ยงในการใช้เงินงบประมาณที่ไม่เห็นผลต่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“เราพยายามไม่มอง Negative มาก แม้ว่าภาพรวมยังมีความไม่แน่นอนอยู่ก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจกลับมานั้น คือ การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด และการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในปีนี้มากกว่านโยบายการคลัง ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิดที่ยังไม่รู้จะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ การยกเพดานหนี้สาธารณะในตอนนี้ก็ต้องดูความเหมาะสมว่าเราพร้อมหรือไม่ ซึ่งเราเห็นด้วยถ้าจะยกเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% ของ GDP จากปัจจุบันที่ 55% ของ GDP แต่อยากให้ทำเมื่อสถานการณ์ต่างๆมีความพร้อม เพื่อนำเงินที่ได้มาให้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เห็นผลชัดเจนในระยะยาวมากกว่า ความสำคัญของการใช้นโยบายการคลังคงจะต้องนำไปใช้ในปีหน้ามากกว่าปีนี้”
นายทิม กล่าว
สำหรับ GDP ไทยในปี 65 นายทิม กล่าวว่า ประมาณการไว้ที่ขยายตัวได้ 3.1% โดยมองว่าประเทศไทยจะกลับมาเปิดเมืองและมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆในประเทศได้ตามปกติต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 64 ซึ่งมองว่าในช่วงปลายปีประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นหลังจากที่ในช่วงไตรมาส 4/64 จะเริ่มมีวัคซีนที่ภาครัฐสั่งซื้อและวัคซีนทางเลือกเข้ามามาก ทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจากการที่ภาครัฐยังคงเดินหน้าเปิดบางจังหวัดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้นั้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวค่อยๆฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น โดยที่จะเห็นได้จากการเปิดภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. 64 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตค่อนข้างมากกว่า 10,000 คน ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในภูเก็ต มีจำนวนที่น้อยมาก แสดงถึงการจัดการที่ดี และทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาได้
นอกจากนี้ยังมองว่าภาครัฐจะยังมีการใช้นโยบายการคลังออกมาในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาพลิกฟื้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐที่มองว่าจะกลับมามากขึ้น หลังจากที่ในปีนี้อาจจะชะลอการลงทุนไปบ้าง ซึ่งจะมีการลงทุนในโครงการต่างๆออกมา เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนำมาช่วยในการฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดการจ้างงานกลับมา ส่งผลให้ประชาชนกลับมามีรายได้ หลังจากที่ปัจจุบันอัตราการว่างงานของไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2% จากที่เคยอยู่ที่ 1%
ด้านมุมมองของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 64-66) แม้ว่าทิศทางของธนาคารกลางในหลายๆประเทศในโลกจะมีแนวโน้มเตรียมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันแล้วก็ตาม แต่สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่ายังมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ลากยาวมาต่อเนื่อง ทำให้ในปีนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจฟื้นตัวช้สที่สุดในอาเซีน และยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมาอีกสักระยะอย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยปัจจัยดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กนง.จะยังไม่พิจารณาการเร่งคืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามมองว่าในการประชุมวันที่ 4 ส.ค. 64 คาดว่าเสียงโหวตของคณะกรรมการกนง.อาจจะเสียงแตกในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อย่างน้อย 1 เสียง เพื่อเปิดช่องในการลดอัตราดอกเบี้ยได้ หากทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศยังเผชิญกับคามเสี่ยงมากในระยะถัดไป
ขณะที่ค่าเงินบาทไทยในปัจจุบันที่กลับทิศทางมาอ่อนค่าอย่างมากมาที่ 32.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสิ่งที่แตกต่างจากภาพในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก ซึ่งปัจจัยการอ่อนค่าของค่าเงินบาทนั้นมองว่าเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวช้ามากกว่าคาด และกระทบต่อความกังวลของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนนำเงินออกจากประเทศ และชะลอการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งแนวโน้มของการเกินดุลบัญชีเดนสะพัดที่ลดลง ทำให้ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และยังไม่มั่นใจว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าลงได้มากปัจจุบันหรือไม่
“เรายังเห็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาท การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภาคท่องเที่ยวไทยยังมีความไม่แน่นอน ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอย่างมาก ทำให้เรามองว่าค่าเงินบาทน่าจะเผชิญสภาวะที่ท้าทายในช่วงต่อจากนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างจับตา เพราะเงินบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาค จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเราเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามาก และจะเห็นธปท.เข้ามาพยายามควบคุมค่าเงินบาท แต่ตอนนี้ภาพกลับกัน เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และก็ยังไม่รู้ว่าจะอ่อนค่ามากกว่านี้ไหม ภาพตอนนี้เหมือนโลกกำลังจะหนีเราไป คนอื่นเขาเศรษฐกิจกลับมาฟื้นขึ้นและเตรียมขึ้นดอกเบี้ย แต่เรายังต้องมาแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดอยู่ ปัญหายังไม่จบลงชัดเจน ทำให้เรายังไม่ไปไหน ในขณะที่คนอื่นเขาหนีเราไปแล้ว”
นายทิม กล่าว
อย่างไรก็ตามมองว่าทิศทางของค่าเงินบาทในปีหน้ายังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่ธนาคารยังไม่ประเมินชัดเจน ยังขอดูแนวโน้มของสถานการณ์ก่อนว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้คลี่คลายลงได้ชัดเจน และเริ่มกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)
Tags: GDP, ทิม ลีฬหะพันธุ์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, เศรษฐกิจไทย