“สุริยะ” เร่งประมูลมอเตอร์เวย์ M5-M9-M7 กว่า 9 หมื่นลบ. สั่งเคลียร์งานค้าง 5 โครงการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมทางหลวง (ทล.) ว่า กรมทางหลวงมีโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างได้ทันภายในรัฐบาลนี้ได้แก่

1. โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต – บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ค่าก่อสร้าง 31,280 ล้านบาท ที่จะเชื่อมไปถึง Junction บางปะอินซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์มอเตอร์เวย์ 3 สาย

2. ถนนวงแหวนรอบนอก( M9 ) ฝั่งตะวันตกช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. ค่าก่อสร้าง 56,035 ล้านบาท คณะกรรมการ PPP เห็นชอบรูปแบบลงทุนแล้ว ทล.เตรียมสรุปเสนอคมนาคมเพื่อเสนอครม.อนุมัติโครงการต่อไป

3. มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา (M7) ระยะทาง 1.92 กม. ค่าก่อสร้าง 4,508 ล้านบาท ครม.เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินกู้ และเตรียมหาผู้รับจ้างในปี 2566 เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2567

ขณะเดียวยังมีโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน MR10 ในอนาคต,โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม – ชะอำ,โครงการ Pilot Project ตามผลการศึกษา MR-MAP เช่น MR2 ช่วงแหลมฉบัง – โคราช

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บเงิน ระบบมอเตอร์เวย์ โดยใช้ระบบ Free Flow ไม่มีไม้กั้นแบบ M-Flow เป็นหลัก ไม่ให้เป็นคอขวดที่หน้าด่านเก็บเงิน

ปัจจุบันโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้สั่งการให้เร่งรัด กำชับติดตามให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้โดยเร็ว ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – นครราชสีมาซึ่งในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ตนจะลงพื้นที่ไปตรวจเร่งรัด แก้ไขปัญหาที่สถานที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

2. โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

3. โครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 (มอเตอร์เวย์M82 )สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว

4. โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และ

5. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)

“เน้นย้ำเรื่องปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางในระหว่างการก่อสร้าง และเมื่อเปิดใช้โครงการแล้ว โดยต้องเน้นมาตรฐานทั้งในขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง และในขั้นเปิดให้ใช้งานจำเป็นต้องกำกับควบคุมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของ ทล. ที่ต้องพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยด้านการจราจร การทาสี ตีเส้น และป้ายสะท้อนแสงต่าง ๆ ต้องดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ดี ทำให้พี่น้องประชาชนเดินทางได้อย่างมั่นใจทั้งในกลางวันและกลางคืน ทั้งในสภาพอากาศที่ดีและในเวลาทัศนวิสัยไม่ดีมีฝนตกหนัก”นายสุริยะกล่าว

*ย้ำเพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรมทางหลวงถือเป็นหน่วยงานหลักของ กระทรวงคมนาคม ที่มีโครงการขนาดใหญ่และมีขอบเขตความรับผิดชอบมาก ทั้งในเรื่องภารกิจ งบประมาณ และจำนวนบุคลากร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนโยบายและยุทธศาสตรสำคัญ ๆ ของประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนนให้ครอบคลุมเชื่อมโยงภูมิภาคถึงภูมิภาค เชื่อมจังหวัดถึงจังหวัด รองรับความต้องการเดินทางของประชาชน ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมด้านการเกษตร ท่องเที่ยว การค้า การลงทุนแหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ในทุกมิติ การเชื่อมต่อการเดินทางของคนและสินค้าจากถนนสู่ท่าเรือ หรือจากถนนสู่ท่าอากาศยาน แบบไร้รอยต่อ เพิ่มขีดความสามารถสมรรถนะทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ของประเทศ

โดยให้นโยบายสำคัญ ในการพัฒนาโครงข่ายทางถนน คือ 1. ต้องเพิ่มคุณภาพด้านความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ

แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ PM 2.5 โดยผลักดัน การพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์ที่มีการควบคุมการเข้าออก ไม่มีจุดตัดทางแยก มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย ตามกรอบ MR-MAP ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการเชื่อมต่อขนส่งสินค้าระหว่างกันจากภูมิภาคถึงภูมิภาค จังหวัดถึงจังหวัด รวมไปถึงเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านจากชายแดนถึงชายแดน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณและการบริหารสัญญาของโครงการต่าง ๆ จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า จัดเตรียมทุกขั้นตอนก่อนลงนามสัญญาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค การสำรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้างให้ตรงกับแบบที่ออกไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผนในขั้นปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการในงบประมาณปี 2567 ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง ดังนั้น การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

โดยในปี 2566 ทล.รายงานว่า ได้รับงบประมาณ 118,994 ล้านบาท (งบลงทุน 95%) ผลเบิกจ่ายอยู่ที่ 96. 21 % ส่วนปี 2567 เสนอของบที่ 338,418 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากกรอบรอบก่อนหน้าการปรับปรุงใหม่โดยเพิ่มเติมงานด้านความปลอดภัยตามนโยบายนายกรัฐมนตรีเช่น การพัฒนายกระดับระบบคมนาคมที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ โครงการขยาย 4 ช่องจราจรบนทางหลวงเลี่ยงเมืองหมายเลข 4027 พร้อมทั้งการปรับปรุงแนวใหม่บริเวณทางแยกเข้าสนามบินโครงการปรับปรุงทางลอด บริเวณแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร ซึ่งจะต้องเร่งรัดให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จในปี 2567 และเริ่มก่อสร้างได้โดยเร็ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,