นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นการซื้อคืนกิจการสัมปทานรถไฟฟ้าว่า เรื่องนี้มีแนวทางดำเนินการ เบื้องต้นกระทรวงจะต้องมีการศึกษาให้เกิดความชัดเจน เท่าที่มีการปรึกษากับกระทรวงคลัง มีแนวทางการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อระดมเงินรวบรวมสำหรับเข้าซื้อกิจการรถไฟฟ้าที่เอกชนยังบริหารภายใต้สัญญาสัมปทาน และกองทุนนี้จะแยกกับกองทุนที่จะเอาไปอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพ.ศ…ด้วย
อย่างไรก็ตามขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน ส่วนจะต้องรอให้รถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จทุกสายก่อนหรือไม่นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่เคยศึกษามาก่อน อาจจะมอบสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาว่า สมควรทำตรงจุดไหนก่อน เก็บเท่าไหร่
ส่วนแนวคิด Congestion charge (การกำหนดเขตที่จะเก็บค่าธรรมเนียมจราจรหนาแน่น) ประเทศอื่นมีการเก็บจริง ๆ และส่วนตัวได้ไปดูโมเดลนี้ที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว จึงคิดว่าในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บเมื่อมีระบบขนส่งครบบริบูรณ์แล้ว เช่น ย่านถนนรัชดาภิเษก ถ้าตรงนั้นมีรถไฟฟ้าครอบคลุมแล้ว อาจจะต้องเก็บ หรือแถวถนนสุขุมวิทก็อาจจะต้องเก็บ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้
ส่วนการพัฒนาสนามบินภูมิภาคนั้น ทางกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งรัดแผนงานการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการสนามบินให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการแทนต่อไปซึ่งเชื่อว่า จะทำให้การเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางดีขึ้นและทำให้ประเทศไทยเป็นฮับการบิน
ส่วนจะกำหนดให้ ทอท. รับท่าอากาศยานของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทั้ง 28 แห่งเลยหรือไม่นั้น นายสุริยะ ระบุว่า เบื้องต้นมี 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ กระบี่, บุรีรัมย์ และอุดรธานี ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการแล้ว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการขอใบรับรองการดำเนินการสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแก่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการได้เรียบร้อยในปี 2567 นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 67)
Tags: ทักษิณ ชินวัตร, สัมปทานรถไฟฟ้า, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ