“สุริยะ” สั่งเพิ่มเงื่อนไขประมูลแลนด์บริดจ์ต้องตั้งกองทุนเยียวยาหวังลดแรงต้าน จ่อบินโรดโชว์จีน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดระนองในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ และได้รับความเห็นจากทุกฝ่าย ในการดำเนินโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์ ซึ่งประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ มีความกังวลในเรื่องผลกระทบจากโครงการทั้งเรื่องการเวนคืน ซึ่งมีประชาชนบางส่วนไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน หากมีการเวนคืนที่ดินจึงกังวลว่าจะไม่ได้รับการชดเชย และการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องอาชีพผลกระทบจากการทำการเกษตร ที่ผลผลิตมีมูลค่าสูง เช่น ทำสวนทุเรียน รายได้ปีละ 2 ล้านบาทจะหายไป

ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้เอกชนที่ได้รับเลือกให้เข้ามาลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าว ซึ่งจะจะกำหนดไว้ในเงื่อนไขสำหรับการคัดเลือก (Request for Proposal : RFP) พร้อมทั้งสั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำรวจข้อมูลพื้นที่ที่ต้องเวนคือนและสำรวจจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และรวบรวมข้อมูลผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์การถือครองโฉนดที่ดินด้วย ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมจะไม่ทำให้โครงการล่าช้า เพราะจะเร่งทำคู่ขนาน

“โครงการนี้ มูลค่าการลงทุนในเฟสแรกประมาณ 5 แสนล้านบาท ภาครัฐจะรับผิดชอบเรื่องการเวนคืนที่ดินอย่างเดียว โดยเอกชนลงทุนในด้านการก่อสร้าง ท่าเรือ ระบบราง มอเตอร์เวย์ และจะกำหนดเพิ่มเรื่องการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งจะตัดสินที่รายใดเสนอผลประโยชน์แก่รัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนกองทุนจะต้องมีวงเงินเท่าไร รอการศึกษาสำรวจเรื่องผลกระทบและการเยียวยาแก่ประชาชนก่อน “นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้มีการโรดโชว์แก่นักลงทุนแล้วหลายประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา,อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ขณะนี้พบว่ามีกลุ่มดูไบเวิล์ดที่แสดงความสนใจจะมาประเทศในต้นเดือนก.พ.นี้ เพื่อลงพื้นที่โครงการฯ ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน มีบริษัทจีน สนใจโครงการฯ ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประเทศจีนเพื่อโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนบริษัทจีน

“เรามั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความเป็นไปได้ มีความคุ้มค่า มีนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรือ และมีสายการเดินเรือแสดงความสนใจ และการที่นักลงทุนรายใหญ่จะมาลงทุน เขาจะต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าก่อนอยู่แล้ว “

ส่วนระบบการส่งน้ำมันทางท่อ เป็นงานที่ต้องมีขีดความสามารถสูง ต้องให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้เสนอและดำเนินการศึกษาและนำเสนอกรณีที่จะลงทุน ในขณะที่ภาครัฐวางแผนในเรื่องเวนคืนที่ดินเผื่อไว้แล้วตามแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์และรถไฟ และมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ไว้ครอบคลุม อยู่ที่เอกชนว่าจะสนใจเสนอดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,