นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในภูมิภาค (รถไฟฟ้ารางเบา หรือแทรมป์) จังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 41.7 กิโลเมตร (กม.) ว่า ขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน และปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีช่องจราจรแคบ รวมถึงแนวเส้นทางโครงการที่เป็นจุดตัดระหว่างการจราจรบนทางหลวงกับระบบขนส่งมวลชนทางราง
ทั้งนี้ รฟม. จะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 6 เดือน โดยตามเป้าหมายมีแผนจะเสนอไปยังคณะทำงาน และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ในช่วงเดือนตุลาคม 2568 – มิถุนายน 2569 ก่อนจะเสนอมายังกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), คณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับในช่วงเดือนกรกฎาคม 2569 – กุมภาพันธ์ 2570 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนช่วงเดือนมีนาคม 2570 – สิงหาคม 2571
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้วางเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนกันยายน 2571 คาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในช่วงเดือนธันวาคม 2574 ซึ่งการเริ่มก่อสร้างโครงการแทรม จังหวัดภูเก็ตนั้น ได้วางแผนให้สอดรับกับการดำเนินโครงการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 402 และ 4027 ของกรมทางหลวง (ทล.) ให้แล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในระหว่างการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการแทรมป์ จังหวัดภูเก็ต จะสามารถอนุมัติโครงการในยุคที่ตนดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม และเป็นไปตามเป้าหมายข้างต้นอย่างแน่นอน
สำหรับการปรับรูปแบบในบางช่วงของโครงการฯ นั้น จากเดิมมีการออกแบบให้แทรมวิ่งขนานบนพื้นผิวจราจร แต่ด้วยในบางจุดมีความแออัด และมีช่องจราจรไม่มากนัก ซึ่งจะกระทบกับการสัญจรบนถนนทางหลวงของประชาชน ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงได้มีการออกแบบการดำเนินงานบางส่วนในลักษณะคลองแห้ง (ทางลอด) โดยตัดผ่านแยกต่าง ๆ บนถนน ทล. 402 รอบนอกตัวเมืองภูเก็ต เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ อุโมงค์ทางลอด บนถนน ทล. 402 รอบนอกตัวเมืองภูเก็ตนั้น มีการออกแบบรวมทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย 1.บริเวณก่อนถึงโรงเรียนเมืองถลาง ความยาวประมาณ 1.10 กม. 2.บริเวณแยกมุดดอกขาว ความยาวประมาณ 1.30 กม. 3.บริเวณผ่านเขตอำเภอถลาง ความยาวประมาณ 3.25 กม. 4.บริเวณหน้าเทศบาลศรีสุนทร ความยาวประมาณ 1.10 กม. และ 5.บริเวณแยกเกาะแก้ว – แยกบางคู ความยาวประมาณ 2.60 กม.
นอกจากนี้ ยังได้ให้นโยบายในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะคิดค่าโดยสารที่มีอัตราแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประชาชนในพื้นที่ จะมีค่าโดยสารที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย และ 2.นักท่องเที่ยว หรือประชาชนนอกพื้นที่ที่เดินทางมาจากสนามบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะใช้อัตราค่าโดยสารที่สูงกว่า เพื่อให้มีความสมเหตุสมผล และคุ้มค่าต่อการลงทุนโครงการฯ ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)
Tags: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, คมนาคม, ภูเก็ต, รถไฟฟ้ารางเบา, รฟม., สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, แทรมป์ภูเก็ต, โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในภูมิภาค