นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ว่า จากที่กระทรวงคมนาคม ได้เคยเสนอโครงการฯ ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อรอบรรจุเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่ตนได้ถอนเรื่องกลับมาก่อน เนื่องจากเห็นว่าควรนำมาพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการ และรูปแบบการลงทุนที่มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันให้มากที่สุดอีกครั้ง
โดยจากเดิมได้เสนอดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost ให้เอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธา และงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) ทั้งหมด จะเปลี่ยนมาเป็นให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการลงทุนก่อสร้างเองได้หรือไม่ ซึ่งมีประเด็นที่กรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการต้องกู้เงินมาก่อสร้าง อาจมีผลต่อเพดานหนี้สาธารณะ จึงให้พิจารณาว่าจะโอนโครงการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการลงทุนได้หรือไม่ เพราะหาก กทพ.กู้มาลงทุน จะเป็นส่วนของรัฐวิสาหกิจ มีเครดิตและฐานะการเงินที่ไม่กระทบเหมือนหน่วยงานราชการ
“ล่าสุด ได้พิจารณาทุกรูปแบบแล้ว เห็นว่าแนวทางการดำเนินโครงการเดิมที่กรมทางหลวงเสนอรูปแบบ PPP Gross Cost มีความเป็นไปได้ที่สุด ดังนั้นคาดว่าจะสรุปรายละเอียดโครงการฯ ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อนำเสนอครม.พิจารณาอนุมัติเดินหน้าโครงการต่อไป” นายสุริยะ กล่าว
พร้อมระบุว่า การลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost นั้น รัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา และงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการแก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งการออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว คาดว่าจะดำเนินการประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2568 และลงนามสัญญาภายในปี 2569 เริ่มก่อสร้างในปี 2570-2573 โดยคาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2571
สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 28,187 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานระบบและอาคารที่เกี่ยวข้อง ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน วงเงิน 1,155 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้าง Rest Stop ด่านรังสิต 1 วงเงิน 7 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 77 ล้านบาท ,เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด วงเงิน 1,467 ล้านบาท และค่าออกแบบ-ควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 462 ล้านบาท
โครงการนี้ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ก่อสร้างตามแนวถนนพหลโยธิน มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่งดังนี้
1.จุดเชื่อมต่อบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่านรังสิต 1
2.จุดขึ้น-ลง ด่านรังสิต 2
3.จุดขึ้น-ลง ด่านคลองหลวง
4.จุดขึ้น-ลง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์
5.จุดขึ้น-ลง ด่านนวนคร
6.จุดขึ้น-ลง ด่านวไลยอลงกรณ์
7.จุดขึ้น-ลง ด่านประตูน้ำพระอินทร์
ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ M-Flow
เมื่อแล้วเสร็จ โครงการจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน และเติมเต็มโครงข่ายถนนสายหลัก (Missing Link) ตอนบนของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 67)
Tags: ดอนเมืองโทลล์เวย์, ทางด่วน, ทางยกระดับ, มอเตอร์เวย์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ