นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยจะกลับมา” (Resilient Thailand: Ways to Bounce Back) ว่า ในการเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจ สำหรับการท่องเที่ยว ประเทศไทยได้เปิดการท่องเที่ยวที่ภูเก็ต (Phuket SandBox) ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จ และในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีรายจ่ายต่อหัวสูงเข้ามาในประเทศ ประมาณ 1 ล้านคน รวมถึงกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแผนเปิดเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ดี การเปิดพื้นที่ต้องอาศัยความมือกันในทุกภาคส่วน และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
สำหรับความเดือดร้อนของภาคประชาชน ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs มีมาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง การแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทิศทางให้สถาบันการเงินร่วมมือกันแก้ปัญหาหนี้ให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลทำเต็มที่ในส่วนนี้ และยังทำต่อไป
ในส่วนการผ่อนคลายมาตรการ จะทยอยผ่อนคลายไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการแพร่ระบาด ในส่วนความมั่นคงทางการเงิน ฐานะการเงินการคลังของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดย Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยทางการเงิน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลก จากความต้องการที่มีมากขึ้น ประกอบกับการผลิตได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความชะงักงันในการผลิต ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น รวมถึงสินแร่อื่น ๆ ราคาสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นความท้าทายใหม่ โดยรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน เพื่อรักษาเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเห็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกินไป จนเป็นภาระต่อภาคประชาชน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนไทยในระยะต่อไป รัฐบาลกำลังเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อยู่ ซึ่งเป็นแผนฯ ที่มีทิศทางการพลิกโฉมประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) โดยไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2608-2613 โดยไทยจะพลิกฟื้นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ซึ่งไทยมีศักยภาพ ทั้งในด้านพลังงานจากชีวมวล พลังงานจากก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน
โดยไทยมุ่งเป้าที่จะมีพลังงานทดแทนมากกว่า 50% ภายในอีก 10 ปี การเพิ่มการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ในปี 2573 และจะต้องมีการวางโครงสร้างของ Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งสถานีบรรจุไฟฟ้า ระบบสายส่งที่หยืดหยุ่น ซึ่งตรงนี้จะเกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการพูดคุยกับผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศ และเชิญชวนผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่สนใจ โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีนโยบายการส่งเสริมที่ชัดเจนออกมา
นอกจากนี้ การลดการใช้พลังงานทุกสาขาลง 30% ภายในปี 2037 ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการเร่งรัดอย่างจริงจัง การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่ามากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
ในเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ ๆ นั้น ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางรากฐานการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไว้ในทุก ๆ ด้าน ทั้งการโทรคมนาคม การคมนาคม โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าต่าง ๆ วันนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เราเข้มแข็งอยู่แล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ทำมาทั้งหมด เป็นการสร้างฐานสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการขยายความเจริญเข้าสู่ภูมิภาค และเชื่อมโยงภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าในหลายโครงการ ทั้งรถไฟรางคู่ ขนส่งมวลชน เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงทางถนนสู่ชายแดน โครงข่ายทางพลังงาน รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
ขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามสร้างระบบนิเวศการลงทุนภายในประเทศ โดยมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ทั้ง EEC และบริเวณชายแดน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล หรือ Ease of Doing Business ซึ่งแม้ว่า World Bank จะยุติการประเมินนี้ไปแล้ว แต่รัฐบาลยังคงทำต่อ เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนา ปรับปรุง ระบบการทำงานให้รวดเร็วขึ้น มีขั้นตอนที่น้อยลงไป ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย และสิ่งสำคัญคือ การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีการพัฒนาเตรียมการโดยมีสถาบันนวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย
รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมในบริบทใหม่ ที่จะสอดคล้องกับลักษณะของประเทศไทยในอนาคตที่จะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น พร้อมขอให้ประชาชนร่วมมือกัน ช่วงนี้อยู่ในช่วงรอยต่อ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายขึ้น แต่ก็ไม่ควรประมาท รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ ราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ลดผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อที่จะก้าวผ่านและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, SMEs, กระทรวงพลังงาน, ท่องเที่ยว, ธนาคารแห่งประเทศไทย, นักท่องเที่ยว, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เปิดประเทศ, เศรษฐกิจไทย, แผนพัฒนาเศรษฐกิจ