นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ร่วมกันสร้างผลงานเครื่องประดับศิราภรณ์ วิจิตราภรณ์ ที่สวยงามอลังการ และสามารถใช้ได้จริงในการสวมใส่เครื่องประดับแต่งกายการแสดง การร่ายรำ หรือศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยทำมาจากใบอ้อยที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการทำไร่อ้อยในพื้นที่
โดยช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ.เป็นฤดูเก็บเกี่ยว มีใบอ้อยเหลือทิ้งจำนวนมาก เดิมเกษตรกรก็จะเผาก่อให้เกิดมลพิษ เป็นสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ครูและนักเรียนจึงช่วยกันคิดนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับไทยจากใบอ้อย ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียว ทน และยึดเกาะได้ดี ด้วยการนำใบอ้อยมาหั่น ตำให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับแป้งข้าวเจ้าที่ต้มกับน้ำให้จับตัวเป็นก้อน นวดผสมกับผงแคลเซียม ปูนยาแนว ทิชชู และใบอ้อย นวดให้เข้ากันก็จะได้ดินไว้สำหรับกดลาย เวลาใช้ก็นำดินที่ผสมแล้วกดลงในแม่พิมพ์ตามลวดลายที่ต้องการ แล้วนำไปติดบนโครง หรือตัวเรือนเครื่องประดับ นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วลงสีน้ำมัน สีทอง ปิดทองคำเปลว และประดับตกแต่งเพชรพลอยก็จะได้ชิ้นงานวิจิตรสวยงาม
ผลงานดังกล่าวมีส่วนช่วยลดปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล และส่งเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบอ้อยเป็นการประหยัดงบประมาณการเช่าต่อครั้งที่มีราคาค่อนข้างสูง และสร้างรายได้ระหว่างเรียนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องประดับไทยน้อยลง เพื่อให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้สืบสานงานศิลป์ที่เป็นมรดกของชาติให้เยาวชนได้ศึกษา ต่อยอด และสามารถนำเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรายได้
“รัฐบาลชื่นชมคณะครูและเด็กไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพ มีความคิดที่ทันสมัย คิดครอบคลุมถึงนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ และมาตรการช่วยลด PM 2.5 ในต่างจังหวัด รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเยาวชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การประกอบอาชีพ รวมถึงด้านอื่น ๆ ให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความภูมิใจในตัวเอง” นายคารม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 68)
Tags: คารม พลพรกลาง, อ้อย