นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 19/2566 ว่า ปีนี้การจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างดี ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ภาพรวมกรุงเทพมหานครจัดเก็บได้ 91,319 ล้านบาท (คิดเป็น 115.59%) จากที่ประมาณการไว้ 79,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ น่าจะจัดเก็บภาษีได้ถึง 97,000 ล้านบาท
หากดูรายละเอียด ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเราจัดเก็บได้ค่อนข้างดี ประมาณ 11,000 ล้านบาท จะเห็นว่าการจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้เร่งทำฐานข้อมูลมากขึ้นและส่งใบเก็บภาษีได้ถึง 1 ล้านคน ขณะนี้รายได้ที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองประมาณ 19,000 ล้านบาท รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ จัดเก็บได้ประมาณ 72,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ได้มากที่สุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37,285 ล้านบาท ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มมี 2 ส่วน คือ แบ่งตามจุดซื้อขาย และแบ่งตามจำนวนประชากร
ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่ลงทะเบียนในกรุงเทพมหานครมีจำนวนหนึ่ง แต่จำนวนประชากรแฝง มีเกือบถึง 10 ล้านคน คงต้องหารือกันว่าการให้ทะเบียนประชากรสอดคล้องกับจำนวนประชากรที่อยู่จริง เพื่อจะทำให้ได้งบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
ด้านภาษีรถยนต์ เก็บได้ถึงประมาณ 17,000 ล้านบาท ยังมีผู้ที่ยังไม่ดำเนินการจ่ายอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กทม.ได้มี MOU กับขนส่งเพื่อจะเร่งเก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่มเติม
ในส่วนการเก็บภาษีในแต่ละเขต มีหน่วยงานที่เก็บภาษีได้เกินเป้า 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กองรายได้ 2.เขตลาดกระบัง 3. เขตลาดพร้าว 4. เขตสวนหลวง 5. เขตจตุจักร 6. เขตหนองจอก 7. เขตห้วยขวาง แต่มีบางเขตที่เก็บได้น้อย เช่น เขตดอนเมืองเก็บได้เพียง 38% เหตุผลเนื่องจากกระทรวงการคลังเปลี่ยนวิธีคำนวนการประเมินภาษี ทำให้ภาษีที่ดินแปลงใหญ่จากแต่ก่อนอาจเก็บได้อัตราหนึ่ง แต่เมื่อมีการปรับวิธีการคำนวณประเมินใหม่ การเก็บภาษีจึงเก็บได้ลดลง
เพราะฉะนั้นรายละเอียดเหล่านี้เราให้ฝ่ายรายได้ศึกษา 2 ประเด็น คือ 1. การปรับวิธีการคำนวนราคาประเมินทำให้มีการสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็นเท่าใด 2. เกษตรที่ผิดวัตถุประสงค์ คือเกษตรที่ทำเพื่อหวังลดภาษีมีเท่าใด ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องมีการหารือกับรัฐบาลว่ามีข้อแนะนำอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ย. 66)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, เก็บภาษี