สินเชื่อจำนำทะเบียนรถปี 68 โตชะลอ คุมเข้มคุณภาพ-แข่งขันสูง-แหล่งทุนจำกัด

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ระบุว่า ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะยังคงมีการเติบโตในระดับสูง เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นที่ 10-15% ในปี 2567-2568 แต่เป็นการเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี โดยเฉลี่ยที่ 28.4% ในปี 2562-2566

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อที่ยังอ่อนแอส่ งผลให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อมากกว่ามุ่งเน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียว ประกอบกับสภาพตลาดตราสารหนี้ที่ยังตึงตัว ซึ่งเป็นข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุนในการขยายสินเชื่อ

ในด้านการแข่งขัน คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากอัตราผลตอบแทนในระดับสูง และเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน การแข่งขันอาจเร่งตัวขึ้นอีกครั้งเป็นวัฏจักรเมื่อคุณภาพสินทรัพย์เริ่มทรงตัว รวมถึงหากสภาวะการระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้กลับมาเป็นปกติ การขยายฐานลูกค้าด้วยการเปิดสาขาใหม่ คาดว่าจะลดลงและจะเน้นการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น รวมถึงการพัฒนารูปแบบของสินเชื่อ ที่สามารถรักษาสถานะความเป็นลูกหนี้ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติใหม่ หรือการปรับเพิ่มวงเงินได้สะดวกขึ้น โดยมีลักษณะเป็นสินเชื่อหมุนเวียน มากกว่าจะเป็นสินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน

ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.72 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 (3Q67) เติบโต 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อมาจาก

1) ความต้องการสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง เพื่อเสริมสภาพคล่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง

2) ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้นของธนาคารพาณิชย์จากความกังวลต่อ ปัญหาหนี้เสีย

3) การผันตัวของลูกค้าจากหนี้นอกระบบ

4) จำนวนบัญชีผู้กู้เพียง 6.4 ล้านบัญชี ณ 3Q67 เมื่อเทียบกับจำนวนรถ และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสม ที่มากถึง 42.5 ล้านคัน ณ ช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มีแนวโน้มเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลงเนื่องจาก

1) ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อ มากกว่ามุ่งเน้นการเติบโตในสภาวะที่เศรษฐกิจยังคงเปราะบาง และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการผ่อนชำระที่ลดลงของลูกหนี้

2) ราคารถมือสองที่ปรับลดลง ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับลดราคาประเมินของรถลง เพื่อสะท้อนมูลค่าของสินทรัพย์ที่ใช้เป็นประกัน และลดความเสี่ยงของความเสียหายจากผลขาดทุนรถยึด ซึ่งก็ส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อต่อรายลูกค้าลดลงด้วยเช่นกัน

3) ข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากสภาวะความตึงตัวของตลาดตราสารหนี้กระทบต่อแหล่งเงินทุน และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ จากความกังวลของนักลงทุนหลังจากที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งส่งผลให้หลายบริษัทไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้ครบจำนวน หรือมีการชะลอแผนการออกหุ้นกู้ออกไป โดยยอดการเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ของบริษัทในกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคมีการปรับตัวลดลงถึง 23% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางราย จำเป็นต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อนำกระแสเงินสดรับส่วนหนึ่งไปใช้สำหรับการชำระคืนหนี้

ทริสเรทติ้ง มองว่าการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ความเข้มข้นลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยทางด้านคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอลง และปริมาณแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายสินเชื่อที่จำกัด

*กลุ่มผู้ประกอบการนอนแบงก์เป็นผู้นำตลาด

ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 77 ราย ประกอบด้วยผู้ให้บริการ 2 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ 2) กลุ่มนอนแบงก์ โดยกลุ่มนอนแบงก์ ประกอบด้วยกลุ่มนอนแบงก์ที่เกิดจากการแยกธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นบริษัทลูกออกจากธนาคารพาณิชย์ และ กลุ่มนอนแบงก์ทั่วไป

การเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในช่วงที่ผ่านมา ยังคงนำโดยกลุ่มนอนแบงก์เป็นหลัก โดยมียอดคงค้าง 3.25 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาด 87.5% เทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่มียอดคงค้าง 4.66 หมื่นล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 12.5% โดยในระหว่างปี 2562-2566 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถของกลุ่มนอนแบงก์ เติบโตแบบทบต้นต่อปีโดยเฉลี่ยที่ 34.1% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโตแบบทบต้นต่อปี โดยเฉลี่ยที่ 7.4% ในปัจจุบันผู้นำในตลาดนี้ ยังคงเป็นกลุ่มนอนแบงก์เป็นหลัก โดยผู้ประกอบการ รายใหญ่ที่สุด 3 ราย ได้แก่ MTC , TIDLOR และ SAWAD ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 65%

*ผลตอบแทนระดับสูง-คุณภาพสินเชื่อที่ค่อนข้างดี ดึงดูดผู้เล่นรายใหม่

เนื่องจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นสินเชื่อมีประกันที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อกับสินเชื่อประเภทอื่น ทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันจะยังคงอยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันมีการผ่อนคลายลงตั้งแต่ปลาย 4Q/66 สะท้อนได้จากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง และความสามารถในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรับของผู้ประกอบการบางราย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการเติบโตแบบระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการของสินเชื่อยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ จากเดิมที่อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยรับมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ทำให้อัตราดอกเบี้ยรับในตลาดต่ำกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด

*คาดผู้ประกอบการรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม

ทริสเรทติ้ง มองว่าธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะมุ่งสู่การรวมตลาด (Market Consolidation) กล่าวคือ ผู้ประกอบการนอนแบงก์รายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดในปัจจุบัน มีแนวโน้มจะครองส่วนแบ่งตลาดในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากความได้เปรียบด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและต้นทุนที่ต่ำกว่า จำนวนสาขา ระบบไอที และแอพลิเคชัน ความประหยัดต่อขนาดประสิทธิภาพการดำเนินงาน เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการนอนแบงก์ที่มีขนาดเล็ก ในขณะเดียวกัน ก็มีความได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการที่เป็นธนาคารพาณิชย์ในแง่ของความใกล้ชิดกับลูกค้า และความสามารถในการติดตามหนี้

นอกจากนี้ สถานการณ์ปัญหาคุณภาพสินเชื่อ และกำลังซื้อที่ลดลงของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ก็เป็นอีกแรงผลักให้ธนาคารพาณิชย์รวมถึงผู้ประกอบการเช่าซื้อที่เดิมยังไม่เข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจัง ได้เริ่มหันมามุ่งเน้นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารพาณิชย์ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนทางการเงิน จึงคาดว่าจะส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นในระยะปานกลางเมื่อสถานการณ์ปัญหาคุณภาพสินเชื่อเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

*สินเชื่อโตชะลอ หลังสถาบันการเงินเข้มงวด-ข้อจำกัดแหล่งเงินทุน

ณ สิ้น 3Q/67 สินเชื่อรวมคงค้างของผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (รวมสินเชื่อที่มีสินทรัพย์อ้างอิงประเภทอื่นด้วย เช่น ที่ดิน) มียอดคงค้างอยู่ที่ 4.07 แสนล้านบาท เติบโต 4.5% จากสิ้นปี 2566 ซึ่งแม้จะยังมีการเติบโตเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นในระบบ แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอลงมากจากระดับ 28.1% YOY ในปี 2566 เป็นผลจากความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อจากคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง ประกอบกับข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต่อกลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์ โดยบริษัทส่วนมาก มุ่งเน้นการรักษาคุณภาพสินเชื่อและสภาพคล่อง ทำให้บริษัทที่จดทะเบียนส่วนใหญ่ มีสินเชื่อปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่บางบริษัทยังมีการเติบโตของสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อที่อยู่ในระดับที่ดี และแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ

*รายได้ดอกเบี้ยที่ยังขยายตัวดี ดันกำไรเพิ่มขึ้น

กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (9M67) ของกลุ่มธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่รวมการตั้งสำรองพิเศษขนาดใหญ่ในปี 2566 ของบริษัทหนึ่ง) มีการเติบโตอยู่ที่ 5.5% YOY การเติบโตของกำไรสุทธิ ยังมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิยังขยายตัวได้ที่ 13.2% YOY แต่ปัจจัยบวกดังกล่าว ถูกชดเชยบางส่วนด้วยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง จากการตั้งสำรองหนี้เสีย

*คุณภาพสินทรัพย์ยังคงอ่อนแอ

คุณภาพสินเชื่อของกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เริ่มอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2565 หลังการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้หลังการปรับโครงสร้างหนี้ที่สิ้นสุดปลายปี 2566 ด้วยพื้นฐานสถานะเครดิตโดยรวมของลูกหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ จึงมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ และฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ NPL Ratio ของกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มจาก 2.73% ณ สิ้นปี 2565 เป็น 3.76% ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 ส่วนสินเชื่อกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย (Stage 2) ก็มีการปรับสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 11.12% ณ สิ้นปี 2566 เป็น 11.95% ณ สิ้น 3Q67 อย่างไรก็ตาม ด้วยการตั้งสำรองที่มากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านเครดิตสำหรับรองรับหนี้เสียนั้น เริ่มทรงตัวและปรับลดลงเป็น 3.23% สำหรับ 9M67 จาก 4.18% ในปี 2566

*คุณภาพสินเชื่อยังต้องระมัดระวัง

ทริสเรทติ้ง คาดว่าคุณภาพสินเชื่อยังคงอ่อนแอจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคารถมือสองที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังเป็นปัจจัยกดดันคุณภาพสินเชื่อใน 12 เดือนข้างหน้าแต่การเพิ่มขึ้นของ NPL ratio คาดว่าจะชะลอตัวลงเนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับเงื่อนไข และกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้เข้มงวดมากขึ้นในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ประกอบกับมีการตัดจำหน่ายหนี้สูญและขายหนี้เสียเพื่อช่วยลดระดับ NPL ratio ต้นทุนด้านเครดิตคาดจะยังคงอยู่ในระดับสูง

*รายได้และกำไรยังคงเติบโตได้จากการเติบโตของสินเชื่อ

ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้และกำไรของธุรกิจจำนำทะเบียนรถจะยังคงเติบโต แต่ด้วยอัตราที่ชะลอลงจากการเติบโตของสินเชื่อ ที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นจาก 3Q67 เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ได้มีการปรับเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ และจัดการคุณภาพสินทรัพย์มาในระยะหนึ่ง ทำให้เริ่มมีความพร้อมสำหรับการเติบโตสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยทางด้านฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่ความต้องการสินเชื่ออยู่ในระดับสูง

ด้านอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นปี 2567 ทั้งนี้ ปัจจัยบวกดังกล่าวจะถูกชดเชยบางส่วนจากค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง จากคุณภาพสินเชื่อที่ยังอ่อนแอ ต้นทุนทางการเงินที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วก็ตาม เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อชำระคืนหนี้ยังมีอัตราที่สูงกว่าภาระหนี้เดิมที่ครบกำหนด

ทริสเรทติ้ง คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการ ที่ชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2568 เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลเริ่มมีผลและผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น

*การเข้ามาของรถ EV มีผลกระทบต่อธุรกิจจำนำทะเบียนอย่างจำกัด

ทริสเรทติ้ง คาดว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากธุรกิจจำนำทะเบียนรถรับหลักประกันที่ปลอดภาระแล้ว แต่เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในตลาดเพียงไม่นาน และส่วนมากยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนมากยังไม่รับ หรือมีหลักประกันเป็นรถไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยหากเปรียบเทียบจำนวนรถไฟฟ้าสะสมทั้งหมด ณ เดือนกันยายน 2567 จำนวน 206,650 คัน จะคิดเป็นเพียง 0.47% ของจำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด

ทั้งนี้ การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ราคารถยนต์น้ำมันมือสองลดลงนั้น จะมีผลกระทบเชิงลบกับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ใหม่มากกว่า โดยการให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่ที่มีระดับ LTV สูง ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากการขายรถยึด เนื่องจากราคารถลดลงต่ำกว่าภาระหนี้ที่ยังคงค้างอยู่ ในขณะที่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถมีนโยบาย LTV ที่ระดับ 50-80% ของราคาตลาดทำให้มีส่วนรองรับความเสียหายสำหรับการลดลงของราคารถมือสอง อีกทั้งธุรกิจจำนำทะเบียนรถ มีหลักประกันรถยนต์หลากหลายประเภทที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือเกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งผู้ประกอบการต่างมีความระมัดระวังในการรับจำนำทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีราคารถมือสองที่มีเสถียรภาพและมาตรฐาน

*ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

– ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk): แหล่งเงินทุนของบริษัทจำนำทะเบียนรถที่เป็นนอนแบงก์ มีความมั่นคงน้อยกว่าธนาคารและบริษัทลูกของธนาคาร เนื่องจากไม่สามารถระดมเงินฝากหรือพึ่งพาธนาคารแม่ได้

ความเสี่ยงนี้สามารถลดลงได้ หากบริษัทมีการจัดการความสอดคล้องของอายุสินทรัพย์ และหนี้สินที่ดี กระจายวันครบกำหนดของเงินกู้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากการชำระคืนของลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงนี้อาจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดตึงตัว จากความไม่มั่นใจของนักลงทุน

– ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk): กลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบางรายได้น้อย อาจเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้ยาก เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าลูกค้าของธนาคาร แต่เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน และลูกหนี้มีความเป็นเจ้าของรถมาแล้ว ประกอบกับวงเงินสินเชื่อที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ หรือไม่สูงเทียบเท่ากับราคาตลาด ทำให้อัตราการทิ้งรถไม่สูงเท่ากับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

– ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk): แม้ว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. แต่บริษัทจำนำทะเบียนรถที่เป็นนอนแบงก์ ซึ่งไม่ได้เป็นบริษัทลูกในเครือธนาคาร มักมีมาตรฐานและการควบคุมที่ไม่เข้มงวดเท่าธนาคาร ระบบปฏิบัติงานของบริษัทเหล่านี้ ยังพึ่งพาบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการทำงาน การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการทุจริตฉ้อโกง

– ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk): ความเสี่ยงด้านตลาดเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคารถมือสองลดลงอย่างมาก เนื่องจากอุปทานที่สูงจากการเพิ่มขึ้นของรถยึด ซึ่งเกิดจากหนี้เสียที่ขยายตัว ส่งผลกระทบต่อราคาประเมินของหลักประกัน และอาจทำให้บางบริษัทประสบปัญหาการขาดทุนจากการขายรถยึด

– ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Regulatory Risk): การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่างๆ สร้างความเสี่ยงทางกฎหมายที่สำคัญต่อการดำเนินงานและกลยุทธ์ของบริษัท เช่น การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย การกำกับดูแลด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ค่าปรับ การขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกหนี้ในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สามารถเรียกเก็บจากลูกหนี้ แม้การกำกับดูแลในเรื่องต่าง ๆ นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ และทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีข้อเสียเปรียบในด้านต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนในการดำเนินงาน อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการต้องจำกัดกลุ่มลูกค้า โดยเน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไม่สูงมากส่งผลต่อการขยายสินเชื่อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 67)

Tags: ,