เตรียมตัวต้อนรับกับหุ้นไอพีโอน้องใหม่ป้ายแดง บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ผู้เชี่ยวชาญงานวิศวกรรมออกแบบและการเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่นครบวจร พร้อมลงสนามเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 2 ส.ค.2564 ด้วยการกำหนดราคาไอพีโอที่ 6.90 บาทต่อหุ้น เป็นการนำเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด
สำหรับโครงสร้างธุรกิจ AMR เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 22 ปี อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเป็นผู้ให้บริการงานออกแบบติดตั้งระบบวิศวกรรมไอทีโซลูชั่นให้กับภาครัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ อาทิ งานระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ และ กทม. และวางระบบเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรถไฟรางคู่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานระดับเมกะโปรเจกต์ของประเทศ
ประสบการณ์ 22 ปีสู่ผู้นำงานวางระบบไอทีเมกะโปรเจกต์
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ความโดดเด่นของธุรกิจบริษัทคือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการวางระบบเทคโนโลยีโซลูชั่นแบบครบวงจร เป็นงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมของประเทศ, งานบริหารจัดการเมือง ,งานบริหารจัดการน้ำ ,งานบริหารจัดการเครือข่ายระบบการสื่อสาร ,และการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการจราจล ส่วนกลุ่มงานภาคเอกชนเป็นงานวางระบบออกแบบและติดตั้งบริหารจัดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ,ระบบสื่อสารวางท่อก๊าซจากไทยไปเมียนมาร์และไทยไปมาเลเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ ลักษณะงานที่บริษัทให้บริการคือต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษมีความซับซ้อนของงาน ทำให้การแข่งขันสงครามราคาเรื่องการประมูลแทบจะไม่เกิดขึ้นหรือบางงานแทบจะไม่มีคู่แข่งเลย ทำให้บริษัทมีศักยภาพทำกำไรที่ดีและเหมาะสมมีอัตรากำไรที่สูงกว่างานที่เป็นลักษณะประมูลมีคู่แข่งขันหลายราย นอกจากมีข้อได้เปรียบด้านความสามารถแล้ว อีกจุดเด่นของบริษัทคือทีมวิจัยและพัฒนา R&D เป็นอุปกรณ์บางประเภทเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของงานและช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ดีขึ้นอีกด้วย
“AMR นับเป็นบริษัทสัญชาติไทยแห่งแรกที่เข้ามารับงานบริหารจัดการออกแบบและติดตั้งระบบงานรถไฟฟ้าที่เป็นงานค่อนข้าซับซ้อนมาก เป็นที่มาการรับงานประเภทดังกล่าวมาต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยปี 2561-2564 บริษัทรับงานออกแบบและติดตั้งระบบงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 สถานีและ 2 ศูนย์ซ่อมเป็นการร่วมกับพัธมิตรที่เป็นบริษัทข้ามชาติ เป็นหนึ่งผลงานที่การันตีถึงคุณภาพที่บริษัทได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล และบริษัทได้รับงานออกแบบและติดตั้งโครงการรถไฟล้อยางที่ไม่มีคนขับเป็นสายแรกของประเทศไทย”นายมารุต กล่าว
นายมารุต กล่าว
ตุน Backlog เพียบ อนาคตตั้งเป้าขยายธุรกิจสร้างรายได้ประจำ
ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีนั้นคืองานด้านบริการ เช่น งานซ่อมบำรุงและรักษาระบบเป็นสัญญาระยะยาวรายปีเป็นรายได้ประจำ (Recurring Income) ปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับบริษัทกว่า 100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้รวม แต่ล่าสุดบริษัทมีแผนขยายธุรกิจสร้างรายได้ประจำเติบโต 1-2 เท่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าและเพิ่มเป็น 50% ภายใน 5 ปีข้างหน้าเป็นส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านการเติบโตรายได้มั่นคงระยะยาว
ส่วนธุรกิจการจำหน่ายระบบและอุปกรณ์ไอทีที่เกี่ยวกับ Cloud Computing ปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบรายใหญ่ของประเทศไทยมีลูกค้ากว่า 200 รายเป็นหน่วยงานเอกชน,หน่วยงานราชการ ,และสถาบันการเงินหลายแห่ง และจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการปรับพฤติกรรมทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มองเห็นโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมผลประกอบการปี 2561-2563 บริษัทมีรายได้ 1,917.83 ล้านบาท 1,467.62 ล้านบาท และ 2,584.07 ล้านบาท ตามลำดับ และกำไรสุทธิ เท่ากับ 140.99 ล้านบาท 27.39 ล้านบาท และ 247.55 ล้านบาท ตามลำดับ
ระดมทุนเข้า SET เติบโตบนยุค Smart Economy
ปัจจุบันหลายประเทศกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นจากโมเดลธุรกิจของบริษัทมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะยาว ตามแผนการระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้นอกเหนือจะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมมุนเวียนเพื่อรับงานโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็ยังมีแผนขยายธุรกิจสร้างรายได้ประจำ เช่น การขยายการรับงานซ่อมบำรุงและรักษาระบบที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีแผนขยายการลงทุนด้วยการเป็นผู้ให้บริการระบบรางสายรอง (Feeder Line) และการพัฒนา EV Charging Station โดยเฉพาะการใช้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและอาจจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
“ที่ผ่านมา AMR ได้เข้าไปเป็นผู้ออกแบบติดตั้งที่ชาร์จแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งมีแผนขยายจากจุดเล็ก ๆ ไปสู่ระดับประเทศ คาดว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้า คนไทยจะได้มีโอกาสเห็น EV Charging Station มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบโดย AMR” นายมารุต กล่าว
นายมารุต กล่าว
ขณะที่งานวางระบบในโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านต่างๆ ปัจจุบันมองเห็นถึงโอกาสการรับงานจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะของกระทรวงคมนาคมที่มีแผนพัฒนาโครงการพื้นฐานประเทศหลายโครงการมูลค่าหลักหลายแสนล้านบาท เช่นเดียวกับหน่วยงานเอกชนมองเห็นสัญญาณของการขยายงานด้านระบบไอทีเป็นจำนวนมาก สะท้อนจากข้อมูลปี 2561 มีมูลค่าการลงทุนด้านระบบไอทีของภาคอกชนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัทเชื่อมั่นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีจะสร้างโอกาสการเติบโตให้กับผลประกอบการของบริษัทได้เช่นกัน
นักวิเคราะห์ส่องอัพไซด์พื้นฐานสูงกว่าราคาไอพีโอ 6.90 บาท
ด้านมุมมองนักวิเคราะห์ค่าย บล.ทรีนีตี้ มีมุมมองเป็นบวกกับ AMR คาดรายได้และกำไรในอนาคตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ปี 2563-2566 (CAGR) ราว 8.3% ต่อปี และกำไรเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7.4% ต่อปี ซึ่งการระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอจะช่วยให้สามารถลงทุนในการพัฒนาธุรกิจด้านระบบคมนาคมขนส่ง และเมืองอัจฉริยะ ใช้สำหรับการวิจัย และพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยีและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ
เบื้องต้นประเมินราคาเป้าหมายปี 2565 เท่ากับ 9.76 บาทต่อหุ้น อ้างอิงวิธี P/E ที่ 26 เท่า ซึ่งเป็นระดับ Conservative ปรับลดจากค่า P/E เฉลี่ยย้อนหลังของบริษัทที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่จดทะเบียนในตลาดต่างประเทศที่ราว 32 เท่า
ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมปี 2564 เท่ากับ 8.70 บาทต่อหุ้น อิง P/E 30 เท่า โดย Discount -14% จากค่าเฉลี่ย Forward P/E ของหุ้นกลุ่ม Business Solution ที่เน้นงานด้านเทคโนโลยีที่ 35 เท่า
สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ประเมินจุดแข็งด้านวิจัยและพัฒนาและบริการตรงตามความต้องการลูกค้า ทำให้ AMR ได้รับงานจากผู้ให้บริการระบบรางหลักของประเทศเสมอ จึงมีความพร้อมเติบโตไปกับเม็ดเงินลงทุนระบบรางของภาครัฐ รวมถึงงานไอซีทีเป้าหมายที่เป็นพื้นฐานระบบ Smart Cities ในช่วง 2-3 ปีจากนี้ประเมินมูลค่าเฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
ฝ่ายวิจัยฯประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 2564 อิง P/E 25 เท่า อยู่ที่ 8 บาทต่อหุ้น ส่วนปี 2565 จะเพิ่มเป็น 9.70 บาทต่อหุ้น ภายใต้สมติฐานคาดกำไรปี 2564-66 เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.8%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 64)
Tags: AMR, IPO, มารุต ศิริโก, หุ้นไทย, เอเอ็มอาร์ เอเซีย