การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 63 จนมาถึงปัจจุบันได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหนาสาหัสในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่เร่งตัวขึ้นมาตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมากำลังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะเศรษฐกิจหดตัว ทำให้เริ่มเห็นนโยบายของรัฐบาลเข้ามาช่วยประคับประคองในส่วนนี้มากขึ้น
แม้ว่าความคาดหวังจากการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยตามนโยบายปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศจะกำลังเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์นำพาเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง แต่ปัญหาหนี้ภาคประชาชนกลับมีผลกระทบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะทำให้กลับมาแข็งแรงเพียงพอให้เห็นการฟื้นตัวได้รวดเร็วอย่างที่หลายคนคาดหวังกันได้มากน้อยแค่ไหน
เวิลด์แบงก์ จ่อหั่น GDP ไทยจากเดิมคาดโต 3%
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ขณะนี้เวิลด์แบงก์อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย โดยคาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการช่วงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งมีโอกาสถูกปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3% ในปีนี้
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี และมีมาตรการของปะธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของไทย คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดรอบกว่า 60 ปีสนับสนุนรายได้จากภาคการส่งออกของไทยให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ
แต่ผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนทำให้ตัวเลข GDP ในไตรมาส1/64 ยังคงติดลบ รวมกับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ที่ยังไม่คลี่คลาย ดังนั้น หากบวกลบกันแล้วภาพรวมเศรษฐกิจไทยอิงบนสมมุติฐาน GDP เดิมที่ระดับ 3% ยังคงได้รับผลกระทบเชิงด้านลบมากกว่า
ฝากความหวังนโยบายการคลังมองหนี้สาธารณะใกล้ 60% ยังไม่น่าห่วง
นักเศรษฐศาสตร์ เวิลด์แบงก์ ระบุว่า โอกาสการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ คงคาดหวังและฝากความหวังไว้กับนโยบายการคลังเพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยช่วงหลังจากนี้
แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าระดับหนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 60% เพื่อรักษากรอบวินัยทางการคลัง เพราะที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการคลังของประเทศไทยค่อนข้างระมัดระวัง Conservative ไม่ให้ระดับหนี้สาธารณะมีอัตราเร่งสูงเกินไป แต่หากสังเกตหนี้สาธารณะของประเทศอื่นๆ แถบอาเซียนส่วนใหญ่ระดับหนี้สาธารณะก็ใกล้เคียงหรือเกินระดับ 60% ไปแล้ว
จากมุมมอง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มาจากการออกกฏหมายกู้เงินล่าสุดอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6% ของมูลค่า GDP ของไทยเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาระยะสั้นให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง
เชื่อใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่า GDP จะกลับไปสู่ระดับใกล้เคียงปี 62
นายเกียรติพงศ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 จะดีขึ้น แต่คาดว่าโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงต้องใช้ระยะเวลานานอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และถึงแม้ว่าจะเห็นเป็นแนวโน้มที่ฟื้นตัว แต่ปี 62 ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นปีที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และความไม่แน่นอนทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างรุนแรง สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยผ่าน GDP ปี63 ติดลบ 6.1% เป็นการหดตัวเกือบสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากฟิลิปปินส์ โดยช่วงที่เกิดผลกระทบระลอกแรกหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 12-15% ของมูลค่า GDP ของไทย หากมาเจาะลึกเชิงแรงงานที่กระจุกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการจ้างงานแรงงานในไทยทั้งหมด
ห่วงปัญหาคนจนเพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนแก้ไขยาก
หนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั้นคือปัญหาความยากจน ซึ่งหากย้อนไปปี 62 ความยากจนในไทยจะดีขึ้นเนื่องจากมีมาตรการของรัฐบาลเข้ามาช่วยประคับประคองในหลายภาคส่วน แต่พอเข้ามาสู่ปี 63 ที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงภาคแรงงานจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.5 ล้านคน และผู้ที่ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมย้ายไปภาคการเกษตรส่วนใหญ่ประสบปัญหาตกงานเป็นจำนวน 7.5 แสนคน
นายเกียตริพงษ์ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้จำนวนคนจนอาจจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับวันนี้ไทยจะมีปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นคือหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 89% หลังจากศักยภาพรายได้ประชาชนลดลง จึงมีความเป็นห่วงกลุ่มของคนจนมากที่สุด เพราะไม่สามารถชำระหนี้ของตัวเองได้ ต้องถูกยึดทรัพย์สินหรือเกิดเป็นหนี้เสียเข้าสู่ระบบ
แต่หากมองภาพใหญ่ก็ยังไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะระบบการเงินของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพที่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากความแข็งแรงของธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีศักยภาพการตั้งสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับสูง
ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังยังมีพื้นที่เหลืออยู่มาก สะท้อนจากตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ระดับกว่า 53% ดังนั้นยังไม่น่าเป็นกังวลหากเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นก็เชื่อว่ารัฐบาลคงมีเครื่องมือเพียงพอที่เข้ามาช่วยประคับประคองได้
“การเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยเติบโต สังเกตจากตัวเลข GDP รอบ 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ซึ่งหากมองจากหลักความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ หรือเป็นการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
ยกตัวอย่างคนที่เรียนจบปริญญาตรีพองานทำแล้วก็ต้องกู้เงินซื้อรถหรือซื้อบ้าน แต่จากการสำรวจพบว่ามนุษย์เงินเดือนในไทยส่วนใหญ่รายได้เติบโตไม่สูงนัก ขณะที่งานใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมที่มีโอกาส เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี กลับไม่ได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งเรื่องการศึกาและทักษะต่างๆ เป็นเหตุให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามว่าหากภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว ความสามารถการชำระหนี้ของคนไทยจะดีขึ้นด้วยหรือไม่”
นายเกียรติพงศ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 64)
Tags: GDP, ธนาคารโลก, สัมภาษณ์พิเศษ, เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา, เวิลด์แบงก์, เศรษฐกิจไทย