รายงานการวิเคราะห์ของสมาคมพลังงานสะอาด (CEA) ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอังคาร (9 ก.ค.) ระบุว่า ราคาแผงโซลาร์เซลล์อาจปรับตัวขึ้นมากถึง 66% หากสหรัฐดำเนินมาตรการเก็บภาษีนำเข้าใหม่กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของสหรัฐในด้านแหล่งพลังงานที่สำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ รายงานของ CEA ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในรายงานการศึกษาฉบับแรก ๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากดำเนินมาตรการเก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์และโมดูลชุดใหม่จากมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กฎหมายว่าด้วยการปรับลดเงินเฟ้อของสหรัฐ (Inflation Reduction Act : IRA) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับสำคัญของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ครอบคลุมถึง สิ่งจูงใจก้อนโตสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์พลังงานสะอาดในสหรัฐ และเป็นกฎหมายที่จุดประกายแผนการต่าง ๆ สำหรับโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศ
การวิเคราะห์ข้อเสนอด้านภาษีดังกล่าวของ CEA ชี้ว่า ราคาแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในสหรัฐอาจพุ่งขึ้น 10 เซนต์ต่อวัตต์ หรือ 45% สู่ระดับ 32 เซนต์ต่อวัตต์ ขณะที่ราคาโมดูลนำเข้าอาจทะยานขึ้น 15 เซนต์ต่อวัตต์ หรือ 66% แตะที่ระดับ 40 เซนต์ต่อวัตต์
CEA ระบุว่า ต้นทุนที่ระดับสูงจะทำให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทำเงินได้อย่างยากลำบาก และอาจเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายของสหรัฐในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้เพียงพอที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
CEA ระบุว่า สหรัฐจำเป็นต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านภูมิอากาศ เมื่อเทียบกับระดับ 177 กิกะวัตต์ที่มีในช่วงสิ้นปี 2566
ทั้งนี้ CEA ระบุว่า โรงงานผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐจำเป็นต้องนำเข้าโซลาร์เซลล์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากในขณะนี้สหรัฐไม่มีแหล่งโซลาร์เซลล์ในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 67)
Tags: ภาษีนำเข้า, ภาษีโซลาร์เซลล์, สหรัฐ