สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดเมื่อวันอังคาร (14 ม.ค.) พบว่า การนำกากตะกอนน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้เป็นปุ๋ยในภาคเกษตรกรรม อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงและผู้บริโภค เนื่องจากพบสารเคมีที่ย่อยสลายยาก หรือที่เรียกว่า “สารเคมีตลอดกาล” (forever chemical)
การศึกษาระบุว่า แม้ปัจจุบันพื้นที่เกษตรในสหรัฐฯ ที่ใช้กากตะกอนน้ำเสียเป็นปุ๋ยจะมีไม่ถึง 1% แต่ผลวิจัยพบการปนเปื้อนของสารเคมี PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) ซึ่งเป็นสารเคมีตกค้างที่มีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง ทำลายตับ และก่อโรคร้ายแรงอื่น ๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า EPA ได้จำลองความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่ในหรือใกล้พื้นที่ที่มีการใช้กากตะกอนน้ำเสีย รวมถึงผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ดังกล่าว เช่น ไข่ เนื้อวัว และน้ำดื่ม ผลการประเมินเบื้องต้นพบว่า ระดับความเสี่ยงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ EPA กำหนดไว้หลายเท่า
อย่างไรก็ตาม ร่างรายงานการประเมินนี้ระบุว่าไม่พบความเสี่ยงต่อระบบห่วงโซ่อาหารในภาพรวม และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลา 60 วัน
เจน นิชิดะ ผู้บริหารรักษาการของ EPA กล่าวว่า ผลการประเมินนี้จะเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานทั้งระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่น รวมถึงผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียและเกษตรกร ในการป้องกันการสัมผัสสารเคมีดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา EPA ได้ประกาศมาตรการควบคุมสาร PFAS ในน้ำดื่มเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสารพิษนี้ได้นับหมื่นราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 68)
Tags: EPA, กากตะกอนน้ำเสีย, ปุ๋ย, สหรัฐ, สารเคมี, สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม, สุขภาพ, เกษตรกร