กระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า ทางกระทรวงต้องการที่จะพิสูจน์ว่าทีมวิศวกรของกระทรวงฯ ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อตกลงห้ามการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องการกระตุ้นให้จีนและรัสเซียมีความโปร่งใสมากขึ้นและเพื่อลดความตึงเครียดทางทหาร
สหรัฐได้เสนอแผนการให้คณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติได้เยี่ยมชมการทดสอบอาวุธของสหรัฐ โดยข้อเสนอนี้มีขึ้นนอกรอบการประชุมสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ที่กรุงเวียนนาของออสเตรียในสัปดาห์นี้ โดยการประชุมมีขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์
เมื่อต้นปีนี้ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศถอนตัวจากความร่วมมือในสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ “New START” กับสหรัฐ ซึ่งควบคุมจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่ทั้งสองประเทศสามารถมีในครอบครองได้ นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการที่จีนเพิ่มวัสดุสำหรับใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์เข้าในคลังแสงมากขึ้น
นางคอรีย์ ฮินเดอร์สไตน์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ประจำสำนักงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐ (NNS) กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อตกลงระงับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเรา” พร้อมระบุเสริมว่า “เราไม่มีปัญหาในการพิสูจน์”
“เราถึงขั้นเสนอให้มีการดำเนินการร่วมกัน และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันกับทางรัสเซียและจีน แต่เราไม่ได้รับการตอบกลับ” นางฮินเดอร์สไตน์กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐ ทำหน้าที่ดูแลคลังหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐมากกว่า 5,000 ลูก
บรรดานักวิเคราะห์ได้ออกมาเตือนในเดือนนี้ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นจุดทดสอบนิวเคลียร์ต่าง ๆ ของจีน รัสเซีย และสหรัฐ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่าอาจมีกิจกรรมการทดสอบนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น
กระแสความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้เพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน และเมื่อเดือนก.พ. นายปูตินมีคำสั่งให้ทหารรัสเซียเตรียมพร้อมสำหรับการกลับไปทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยแจ้งให้ชาติอื่นทราบล่วงหน้าในระยะเวลาอันสั้น
ด้านนายเจฟฟรีย์ ลูอิส นักวิจัยจากสถาบันศึกษานานาชาติมิดเดิลบิวรีกล่าวว่า “ทั้งสามประเทศ ต่างมีความประสงค์ที่จะกลับไปทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งโดยใช้ความไม่ไว้วางใจที่มีต่อกันและกันเป็นเหตุผล พวกเขาเชื่อว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์แล้วละก็ อีกสองประเทศก็มีแนวโน้มว่าจะทำเช่นเดียวกัน”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 66)
Tags: จีน, รัสเซีย, สหรัฐ, อาวุธนิวเคลียร์