สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) ว่า กระทรวงคมนาคมของสหรัฐมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 69 ล้านดอลลาร์แก่บริษัท 127 แห่งที่ทำธุรกิจการผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาคองเกรสในปี 2564
เงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเงินอุดหนุนค่าจ้างพนักงานในภาคการผลิตเครื่องบินมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสมทบค่าตอบแทนครึ่งหนึ่งสูงสุด 6 เดือนสำหรับบริษัทที่เข้าเกณฑ์ ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯได้มอบเงินช่วยเหลือทั้งสิ้นจำนวน 673 ล้านดอลลาร์ทั่วประเทศโดยแบ่งออกเป็น 3 รอบ
กระทรวงฯระบุว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะสนับสนุนงานในอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐถึง 31,000 ตำแหน่งใน 43 รัฐ โดยนายพีต บูติเจิจ รมต.คมนาคมสหรัฐกล่าวว่า เงินดังกล่าวจะช่วยประคองให้อุตสาหกรรมการบินของอเมริกาเข้มแข็งต่อไปในขณะที่ยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว โดยบริษัทที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีการสั่งพักงานหรือเลิกจ้างโดยไม่เจตนาอย่างน้อย 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัท หรือรายได้รวมจากการดำเนินงานทั้งหมดต้องลดลงอย่างน้อย 15% ในปี 2563
ส่วนบริษัทที่ได้รับเงินไปแล้วจะไม่สามารถสั่งพักงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานหรือเลิกจ้างพนักงานที่ได้รับเงินช่วยเหลือในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ เงินช่วยเหลือในรอบก่อนหน้านี้ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้มอบให้บริษัทต่าง ๆ ที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งขณะนี้โครงการปิดรับสมัครการขอเงินช่วยเหลือแล้ว และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับเงินทุนส่วนที่ยังไม่ได้แจกจ่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 65)
Tags: ธุรกิจผลิตเครื่องบิน, สภาคองเกรส, สหรัฐ, อากาศยาน, เยียวยาโควิด