สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศคว่ำบาตรเครือข่ายบุคคลและบริษัทเปลือก (shell company) ระดับโลกที่ทางกระทรวงฯ ระบุว่า ได้ช่วยกองทัพรัสเซียหลบเลี่ยงมาตรการพหุภาคีในการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทค ขณะที่รัสเซียกำลังทำสงครามกับยูเครน
ศูนย์กลางของเครือข่ายดังกล่าวคือบริษัทเซอร์นียา เอ็นจิเนียริง (Serniya Engineering) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในกรุงมอสโกและคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนระบุว่าดำเนินงานภายใต้คำสั่งของหน่วยข่าวกรองรัสเซีย โดยบริษัทดังกล่าวได้ขยายออกเป็นกลุ่มบริษัทต่าง ๆ รวมถึงบริษัทจัดซื้อจัดจ้างด้านกลาโหม, บริษัทคนกลาง และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจบังหน้าในสหราชอาณาจักร, สเปน, ฟินแลนด์, สิงคโปร์, มอลตา และฝรั่งเศส
นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ยังประกาศคว่ำบาตรครั้งใหม่เมื่อวานนี้กับบริษัทเทคโนโลยี 4 แห่งที่จัดหาไมโครอิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์นำทาง และซอฟต์แวร์ภาพถ่ายดาวเทียมให้กับกองทัพรัสเซีย โดยหนึ่งในนั้นคือ ไมครอน (Mikron) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย โดยบริษัทนี้รับผิดชอบผลิตชิปบัตรเดบิตของเมียร์ (Mir) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินของรัสเซียที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกครั้งก่อน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐวางมาตรการควบคุมการส่งออกนับตั้งแต่ช่วงที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนช่วงปลายเดือนก.พ. โดยมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับคำสั่งห้ามส่งออกที่บังคับใช้โดยสหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ สหรัฐยังบ่งชี้ว่า อีก 3 ภาคส่วนของเศรษฐกิจรัสเซียได้แก่ การบินและอวกาศ, ทางทะเล และอิเล็กทรอนิกส์ อาจเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรในอนาคต เนื่องจากมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อฐานอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของรัสเซีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 65)
Tags: กระทรวงการคลังสหรัฐ, คว่ำบาตร, ยูเครน, รัสเซีย, สหรัฐ