สศอ. เตรียมชง 2 แนวทางจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันเสนอ กนป.

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 โดย สศอ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการฯ นั้น ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาสมการโครงสร้างราคาที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ซึ่งเกิดจากการประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร โรงงานสกัด โรงกลั่น โรงผลิตไบโอดีเซล โรงผลิตโอเลโอเคมี และส่วนราชการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวแปรและปัจจัยที่จะมีผลกับโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม

สำหรับผลจากการวิเคราะห์ข้อคิดเห็นของที่ประชุมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า โครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันแนวทางที่ 1 จะมีการนำปัจจัยต่าง ๆ มาคำนวณ เช่น ราคาน้ำมันปาล์มดิบ ค่าเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สกัดได้ สัดส่วนการกระจายผลพลอยได้ที่เหมาะสม และ by product เช่น สัดส่วนเมล็ดในอบแห้งและน้ำมันปาล์ม สัดส่วนกะลาปาล์ม สัดส่วนทะลายปาล์ม ราคาเมล็ดในอบแห้ง ราคากะลาปาล์ม ราคาน้ำมันปาล์ม โดยหักด้วยค่าใช้จ่ายของโรงงาน เช่น ค่าดำเนินการ และค่าบริหารจัดการ ด้านค่าขนส่งจะให้หน่วยงานกำหนดเป็นรายพื้นที่ และปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย จะให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่ 2 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคณะอนุกรรมการฯ โดยอ้างอิงจาก Malaysian Palm Oil Board (MPOB) อีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้ง 2 แนวทาง โดยมีข้อสังเกตให้เน้นในเรื่องการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้โครงสร้างราคาดังกล่าวสะท้อนความเป็นจริง และเกิดการยอมรับ

โดยที่ประชุมมีมติให้ สศอ. ร่วมกับกรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และทีมงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองไปประชุมหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ และนำโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเกษตรกร และโรงงานสกัด ซึ่งต้องให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่ายและเกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกัน เพื่อให้ปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศมีความเข้มแข็ง ส่งผลให้เกษตรกรฐานการผลิตสำคัญมีความเป็นอยู่ที่ดี เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อไป

“สถานการณ์ปาล์มน้ำมัน ในปี 66 คาดว่าการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% จากความต้องการรวมที่ 0.333 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภค 0.114 ล้านตัน พลังงาน 0.094 ล้านตัน ส่งออก 0.125 ล้านตัน และสต็อกคงเหลือ 2.82 แสนตัน” นางวรวรรณ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 66)

Tags: , , , , , ,