สศก. เร่งส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อเนื่องหลังกลุ่มต้นแบบประสบผลสำเร็จ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในปีงบประมาณ 64 ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการทำเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยดำเนินการถ่ายทอดความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ การจัดการน้ำ จัดการฟาร์ม การทำบัญชีครัวเรือน และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และประมงจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานมีการประเมินศักยภาพเกษตรกรและจัดกลุ่มเกษตรกร โดยพิจารณาจากข้อมูลแหล่งน้ำ ที่ดิน แรงงาน และพฤติกรรมของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ

โดยมีการแบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A เกษตรกรที่สามารถพัฒนาตนเองสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 และสามารถเป็นต้นแบบได้ กลุ่ม B คือ เกษตรกรที่มีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จในเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 และเป็นเกษตรกรที่ต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ และกลุ่ม C คือ เกษตรกรที่ยังขาดศักยภาพในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 และเป็นเกษตรกรที่ต้องได้รับการพัฒนาเต็มรูปแบบเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

ผลของโครงการฯ ที่เกิดกับเกษตรกรกลุ่ม A ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบในการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ 23 จังหวัด จำนวน 285 ราย พบว่าหลังจากเกษตรกรได้นำองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และประมงจากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ไปปรับใช้ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำและพื้นที่ปลูก นำปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนมาใช้ประโยชน์ นำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาปฏิบัติ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่เอง นอกจากนี้เกษตรกร 82.55% มีการขยายองค์ความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงบำรุงดิน การทำเกษตรแบบอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ ถ่ายทอดไปยังเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับลักษณะการทำกิจกรรมในแปลงเกษตร 76% จะเน้นผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจึงนำไปจำหน่าย แบ่งปัน เก็บไว้ทำพันธุ์ แปรรูป และใช้ปัจจัยการผลิตของตนเองแทน โดยมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตในแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น อาทิ การจำหน่ายพืชผักสวนครัว ไข่ไก่ ไก่เนื้อ ปลา และการแปรรูปผลผลิตเฉลี่ย 7,024 บาท/ครัวเรือน/ปี ขณะที่รายจ่ายลดลงจากการบริโภคในครัวเรือน การใช้ปัจจัยการผลิตของตนเอง การนำวัสดุเหลือทิ้งมาปรับใช้จากเศษใบไม้ กิ่งไม้ และมูลสัตว์ต่างๆ นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพทำให้ลดการเก็บขยะภายในครัวเรือนและลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 3,692 บาท/ครัวเรือน/ปี

นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดค่าใช้จ่ายในด้านอบายมุขลง อาทิ ค่าบุหรี่ ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และค่าใช้จ่ายในการพนันเสี่ยงโชค เป็นต้น ได้เฉลี่ย 5,207 บาท/ครัวเรือน/ปี เพราะเห็นว่าเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของครัวเรือน

“ผลสำเร็จของการติดตามเกษตรกรกลุ่ม A ทำให้เห็นชัดเจนว่าสามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้ โดยนำความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี และแนวทางปฏิบัติของเกษตรทฤษฎีใหม่ไปเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายฉันทานนท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังคงประสบปัญหาด้านแหล่งน้ำอยู่ เนื่องจากแหล่งน้ำมีขนาดเล็กและไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ และเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ต่างคนต่างทำภายในครัวเรือน มีเพียงบางส่วนที่มีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลิต จำหน่าย และสร้างเครือข่ายเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะมีการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่อง เพิ่มพูนทักษะด้านการผลิตและปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การแปรรูปผลผลิต รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมของเกษตรกรเพื่อเป็นการขยายผลจากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และนำไปสู่การพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในขั้นก้าวหน้าได้ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 64)

Tags: , , ,