ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงข้างมาก 164 ต่อ 21 งดออกเสียง 9 เห็นชอบให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ โดยให้กลับไปใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) สำหรับการออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
สำหรับขั้นตอนหลังวุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องยับยั้งไว้ และส่งร่างกฎหมายที่วุฒิสภาปรับแก้กลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยก็สามารถส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาเพื่อพิจารณาร่วมกัน และส่งให้แต่ละสภาพิจารณาอีกครั้ง ถ้าทั้ง 2 สภาเห็นชอบด้วย ก็สามารถส่งนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ได้ แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบอีก ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ 180 วัน แล้วค่อยให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณายืนยันร่างกฎหมายของตนเองอีกครั้ง หากที่ประชุมฯ มีมติยืนยันร่างกฎหมายของตนเองด้วยมติเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนั้น และส่งนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ได้ทันที ซึ่งแม้สภาผู้แทนราษฎรจะสามารถยืนยันร่างกฎหมายของตนเองได้ แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก็จะให้เกิดความล่าช้าออกไป
ขณะที่นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก เนื่องจากการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และตนทำงานในคณะดังกล่าวพบว่าเกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา
หาก สว. เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก ต้องกลับไปสภาฯ ทั้งนี้เชื่อว่าสภาฯ จะยืนยันตามร่างของตนเองเพราะได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ดังนั้นสิ่งที่ตามมา คือ ตั้งกมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ไม่มีข้อสรุป และส่งไปยังแต่ละสภาพิจารณา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาฯ ถึงจะลงมติ ซึ่งจะใช้ร่างของสภาฯ ไม่ผ่านวุฒิสภา
“สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ตามที่คณะกรรมการฯ เล็งกันไว้ คือ ทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 2 ก.พ.68 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย ผมตั้งความหวังไว้ ผมอยากให้สว.เห็นดวยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูญของประชาชนไว้” นายนิกร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 67)
Tags: กมธ., การเมือง, ประชามติ, ประชุมวุฒิสภา, สว.