นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ว่า รัฐบาลควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล หากไม่คุ้มค่าต่อการการลงทุน โดยนำบทเรียนในอดีตมาพิจารณา อย่างเช่น โครงการกระบี่-ขนอม, โครงการปากนรา-สงขลา, โครงการคลองไทย เป็นต้น
รัฐบาลมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อลงทุนแล้วจะมีคนมาใช้บริการ เพราะเป็นการสร้างตลาดใหม่ที่ต้องไปแข่งขันกับผู้ให้บริการรายเดิม ผู้ที่มาใช้บริการจะประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาได้จริงหรือไม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจะคุ้มค่าหรือไม่ สถานที่ก่อสร้างมีความเหมาะสมหรือไม่ รัฐบาลไปโรดโชว์แล้วต่างชาติให้การตอบรับมากน้อยเพียงใด รัฐบาลได้สอบถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนหรือไม่ ปริมาณเรือที่ใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกามีความแออัดจริงหรือไม่ ขณะที่เรายังขาดประสบการณ์เกี่ยวกับการเดินเรือ สายการเดินเรือก็ไม่เห็นด้วย คงไม่มีเอกชนรายใดกล้ามาลงทุนหากมีความเสี่ยงและไม่คุ้มค่า ตนจึงอยากเสนอให้รัฐบาลลงทุนในโครงการเดิมที่มีศักยภาพอยู่แล้วน่าจะดีกว่า
“หากรัฐบาลจะลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คควรจะศึกษาให้รอบคอบ ถ้ารัฐบาลไปปักธงไว้ก่อน หน่วยงานก็จะพากันไปหาข้อมูลมาสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องไปทำแลนด์บริดจ์ก็ได้ ยังมีโครงการอื่นที่มีศักยภาพ”
นายสุรเดช กล่าว
ตนขอเสนอให้รัฐบาลไปดำเนินการในโครงการเดิมที่มีศักยภาพ ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก และเห็นความคุ้มค่าชัดเจน ได้แก่
1.ระบบราง โดยสานต่อเส้นทางสิงคโปร์-คุนหมิง เบื้องต้นควรเร่งขยายเส้นทางไฮสปีดเทรนให้ข้ามฝั่งจากลาวมาไทย เพราะขณะนี้เสียโอกาสในการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยว อีกทั้งควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าให้บริการขนส่งระบบรางได้ แทนการผูกขาดไว้เฉพาะกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เท่านั้น
2.ทางน้ำ เสนอให้มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดภูเก็ต โดยเพิ่มร่องน้ำให้ลึกมากขึ้นจาก 9 เมตร เป็น 15 เมตร เพื่อรองรับเรือสำราญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง
3.การแก้ไขกฎหมายที่อำนวยความสะดวกต่อระบบขนส่งทางบกไปจีน เนื่องจากยังมีอุปสรรค เช่น ต้องขออนุญาตล่วงหน้า 7 วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 67)
Tags: สุรเดช จิรัฐิติเจริญ, อภิปรายทั่วไป, แลนด์บริดจ์