สว.ลงชื่อยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาลทะลุเป้า!!

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมลงนามในยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ครบ 1 ใน 3 ของ สว.ที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 84 คนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (สว.) มติให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน

“เช้านี้ได้รับรายงานว่าน่าจะถึง 84 เสียงแล้ว และอาจจะเกินเล็กน้อยไปถึง 90 เสียง ซึ่งจะทำให้เปิดอภิปรายได้ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอถึงประธานวุฒิสภาได้ในสัปดาห์หน้าเพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี จากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลว่าหากได้รับเอกสารแล้วจะเปิดการอภิปรายได้เมื่อไหร่”

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว.กล่าว

พร้อมปฏิเสธไม่มีการล็อบบี้หรือสกัดกั้นไม่ให้ สว.ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าว เพราะ สว.ทั้ง 250 คนต่างมีเอกสิทธิ์ส่วนตัวในการร่วมลงชื่อ เช่นเดียวกับเอกสิทธิ์ในการลงมติอย่างไรก็ได้

*พุ่งเประเด็นคนชั้น 14/เงินดิจิทัล

กรณีที่ สว.ส่วนใหญ่มองว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องกับกระบวนการยุติธรรมก็ขึ้นอยู่กับคนที่มีข้อมูลและหลักฐานจะนำมาอภิปรายให้ประชาชนฟัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาตอบ ทั้งเรื่องเงินดิจิทัล เรื่องนายทักษิณ และเรื่องเศรษฐกิจ เพราะ สว.หลายคนทำการบ้าน และหาข้อมูลเรื่องนี้ที่จะอภิปราย ซึ่งส่วนตัวเก็บข้อมูลไว้มากพอสมควร

“มีไว้มากพอสมควร ถ้าบอกไปก่อนเดี๋ยวมันจะจืด ส่วนจะเป็นข้อมูลใหม่หรือไม่ขอให้ไปสอบถามคนที่จะอภิปราย ผมไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใครจะเป็นผู้อภิปรายถือเป็นความลับ” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

*รับมีขบวนการล็อบบี้

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้มีขบวนการล็อบบี้ ซึ่งมีสมาชิกหลายคนไม่ร่วมลงชื่อ บางคนบอกว่ามีคนมาขอไม่ให้ลงชื่อ อ้างว่าเป็นพวกกัน ซึ่งได้พยายามอธิบายไปว่าเป็นหน้าที่ของ สว.จึงถือเป็นความยากลำบากระดับหนึ่ง หากไม่มีใครมาล็อบบี้ ปล่อยไปตามธรรมชาติก็คงครบไปนานแล้ว สิ่งที่กำลังทำไม่ใช่เรื่องการล้มรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ สว.เสนอญัตติให้รัฐบาลมาชี้แจงหาทางออกของประเทศใน 7 ประเด็นที่จะเป็นประโยชน์กับการบริหารราชการแผ่นดินและประชาชน

“ไม่ว่าใครก็ตามที่มีแนวคิดจะไม่ให้มีผู้สนับสนุนญัตติครบ 84 เสียง ผมคิดว่าเป็นการคิดผิด ขอความกรุณาปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเป็นประโยชน์โดยรวมกับประชาชน บ้านเมือง และรัฐบาล หากรัฐบาลตอบได้ สามารถที่จะดำเนินการตามที่เราเสนอญัตติไปก็จะเป็นเครดิตของรัฐบาล อย่าไปปิดกั้นและให้ สว.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”

นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวว่า จะเป็นภาพลักษณ์ของ สว.ที่ไม่อยู่ใต้อาณัติใคร และเป็นประโยชน์กับประชาชนในช่วงสุดท้ายก่อนที่ สว.จะหมดวาระ ซึ่งจะพยายามทำให้ดีที่สุด ถือว่าเป็นผลงานสุดท้ายที่ทำเพื่อประชาชน แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่เป็นสิ่งที่ สว.ควรต้องทำ

สำหรับท่าทีของ สว.ที่เคยลงมติสนับสนุนให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี กับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเป็นคนละส่วนกัน ตอนตั้งรัฐบาลก็ตั้งไป ส่วนการทำหน้าที่ตรวจสอบและเสนอแนะก็เป็นอีกหน้าที่ เรื่องทั้งหมดหากมีการนำมาพูดคุยกันในสภาจะเป็นเรื่องที่ดี และเป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำ

ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า การล็อบบี้ให้ สว.ร่วมลงชื่อให้ครบตามจำนวนถือเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจมีการล็อบบี้ไม่ให้สมาชิกร่วมลงชื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งกัน และกลุ่มนี้มองว่ารัฐบาลเพิ่งทำงานได้เพียง 3-4 เดือน งบประมาณก็ยังไม่ได้ใช้และเป็นกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ จึงควรเปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ บริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเร่งเครื่องตรวจสอบ

สำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไปเป็นเพียงการสอบถาม ซักไซ้ ไล่เรียงรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีการลงมติ เป็นโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงข้อสงสัย ถือเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่อีกมุมหนึ่ง สว.กำลังจะถล่มรัฐบาลหรือมองรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเรื่องสามารถมองได้

“ไม่ได้ลงชื่อร่วมอภิปรายในครั้งนี้ ยังเป็น สว.กลางๆ ไม่ได้เห็นด้วย แต่ถ้าหากสามารถเปิดอภิปรายฯ ได้ก็จะร่วมอภิปรายด้วย”

นายวันชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 67)

Tags: , , , ,