นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงนโยบายเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศว่า มีการสนับสนุนในเรื่องการลดราคาขายตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คันละ 7 หมื่นบาท – 1.5 แสนบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าปีแรก จะมีผู้มาใช้สิทธิรวมกันเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท แต่หากมีการขอมาเกินวงเงินดังกล่าว ก็พร้อมขยายวงเงินให้ เพราะไม่ได้มีการจำกัดวงเงินไว้
ทั้งนี้ ขั้นตอนการอุดหนุนไม่เหมือนกับโครงการรถคันแรกที่ให้เงินส่วนลดโดยตรงกับผู้ซื้อรถยนต์ แต่การลดราคารถยนต์ EVตามนโยบายรัฐบาลครั้งนี้จะให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งต้องมาทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยต้องมีการสำแดงราคาต้นทุนที่แท้จริง ว่ารถยนต์ที่ขายในกรณีที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนอยู่ที่ราคาเท่าไร เพื่อที่กรมสรรพสามิตจะได้ตรวจสอบได้ว่าส่วนลดที่ให้ไป ผู้ประกอบการมีการนำไปลดราคาขายปลีกให้กับผู้ซื้อรถยนต์อย่างแท้จริง
“การจ่ายเงินส่วนลดให้ผู้ประกอบการนั้น ผู้ประกอบการจะต้องขายรถยนต์ EV ออกไปก่อน หลังจากนั้นผู้ประกอบการจะต้องรายงานมายังกรมสรรพสามิตทุกไตรมาส ว่าได้ทำการขายรถยนต์ EV ไปจำนวนเท่าไร เพื่อที่กรมฯ จะได้จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการเป็นรายไตรมาส โดยเบื้องต้นคาดว่ากรมฯ น่าจะเริ่มทำสัญญากับผู้ประกอบการได้ในเดือน มี.ค.65” นายลวรณ กล่าว
พร้อมระบุว่า มาตรการสนับสนุนรถยนต์ EV ในประเทศ จะดำเนินการในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะไม่ได้รับการอุดหนุน แต่ค่ายรถยนต์จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ตามเงื่อนไขและจำนวนที่ได้ขายไปในช่วงที่ได้รับการสนับสนุน หากค่ายรถยนต์ไม่ทำตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษ มีค่าปรับ เป็นต้น
อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตามนโยบายเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของภูมิภาค โดยเป้าหมายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)
Tags: กรมสรรพสามิต, ภาษีสรรพสามิต, มติคณะรัฐมนตรี, ยานยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไฟฟ้า