นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เตรียมเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในวันที่ 11 ต.ค.นี้ เพื่อเสนอแนวทางการใช้งบประมาณจำนวน 427,172,500 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)นำไปใช้ในการเยียวยาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า ให้เกิดประสิทธิภาพและตรงตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ในการส่งเสริมการส่งออกของไทย ดังนี้
1. การให้ส่วนลดย้อนหลังแก่สายการเดินเรือที่นำเข้าตู้เปล่าระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสายการเดินเรือจะมีการนำเข้าตู้เปล่าและจัดสรรให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ส่งออกในอนาคต ดังนั้น การให้ส่วนลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าและชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าเปล่าจึงควรกำหนดเงื่อนไขให้สายการเดินเรือต้องยืนยันปริมาณตู้สินค้าเปล่าขั้นต่ำที่จะนำเข้ามาในประเทศ และการจัดสรรพื้นที่ระวางเรือ ให้เพียงพอต่อความต้องการของการส่งออกสินค้าของไทยในแต่ละเดือนต่อจากนี้
2. ในกรณีที่สายการเดินเรือไม่สามารถยืนยันปริมาณตู้สินค้าเปล่าขั้นต่ำให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก หรือในทางปฏิบัติผู้ส่งออกยังไม่ได้รับการจัดสรรตู้สินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ อาทิ สายการเดินเรือยังมีการปฏิเสธการรับจองตู้และระวางการขนส่ง สายการเดินเรือยังมีการส่งมอบตู้สินค้าล่าช้าจากที่ได้ยืนยันกำหนดการกับผู้ส่งออก ควรมีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 427,172,500 บาท ให้กับผู้ส่งออกซึ่งเป็นผู้ประสบปัญหาที่แท้จริงโดยตรง เพื่อให้ได้รับการเยียวยาจากปัญหาค่าระวางที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และไม่ได้รับการจัดสรรตู้สินค้า และการจัดสรรพื้นที่ระวางเรือ ให้เพียงพอต่อความต้องการของการส่งออก
เนื่องจาก ข้อเสนอของภาคเอกชนในการขอให้ปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าและชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าเปล่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายการเดินเรือมีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ส่งออก อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ส่งออกยังคงประสบปัญหาจากการให้บริการของสายการเดินเรือ อาทิ
1) ตู้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออกตามอุปสงค์ของตลาดโลก ทำให้ต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกลงจาก 15% เหลือเพียง 12% ในปี 64
2) สายการเดินเรือจัดสรรพื้นที่ระวางเรือไม่เพียงพอกับปริมาณตู้สินค้าที่ออกจากประเทศไทย ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ
3) ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น 200-700% จนมีต้นทุนการขนส่งใกล้เคียงราคาสินค้า
4) ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มอื่นที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของเรือถูกผลักภาระมาให้ผู้ส่งออกรับผิดชอบ
5) คุณภาพของการให้บริการของสายการเดินเรือลดลงอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับค่าระวางการขนส่งที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความล่าช้าในการส่งมอบตู้สินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง การส่งมอบสินค้า ณ ท่าเรือปลายทาง สภาพตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก ที่ชำรุดและไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ส่งออกต้องการทำให้เกิดต้นทุนและการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ซื้อในต่างประเทศ การลดความถี่และจำนวนเที่ยวเดินเรือในการเดินเรือทำให้มีตัวเลือกในการใช้บริการน้อยลง ส่งผลให้ผู้ส่งออกไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ถึงปลายทางในวันและเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 64)
Tags: การท่าเรือแห่งประเทศไทย, ชัยชาญ เจริญสุข, ตู้คอนเทนเนอร์, ตู้สินค้า, ส่งออก, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย