สรท. มั่นใจส่งออกปีนี้โต 1-2% แต่ห่วงผลกระทบบาทแข็งช่วงปลายปี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก มั่นใจยอดส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวได้ 1-2% โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือแตะ 10 ล้านล้านบาท โดยมีสัญญาณที่ดีจากการเติบโตของการนำเข้าสินค้าทุน ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือน ส.ค.- ก.ย. แม้จะมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าที่คาดการณ์ว่าจะมีผลไปถึงต้นปี 68 เนื่องจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

“ความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ในช่วง 7 เดือนแรกถือสอบผ่าน ส่งออกโตได้ 3.8% โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ที่โตเกินคาดการณ์ของทุกสำนักฯ ถึง 15.2% แม้จะมีปัจจัยภายนอกกดดัน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่าทั้งปีจะโต 1-2% คิดว่าไม่ไกลเกินฝัน หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มเติม” ประธาน สรท. กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้ สรท.จะคงคาดการณ์การส่งออกปี 2567 ไว้ที่ 1-2% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลัง ได้แก่

1. เงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกทันที

2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน ทำให้สินค้าจีนไหลเข้าตลาดในเอเชีย, สงครามในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ

3. ปัญหาการขนส่งทางทะเล ส่งผลให้ค่าระวางเรือของท่าเรือหลักยังตึงตัวและผันผวน, ปัญหาตู้ขนส่งสินค้า

4. การเข้าถึง และการตัดวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ทำให้กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ ดังนี้

1. รัฐบาลต้องมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้า เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ รวมทั้งพัมนาการส่งออกที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างมั่นคง

2. เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าเรือแหลมฉบังที่มีมาต่อเนื่อง รวมทั้งค่าน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุน และทำให้ศักยภาพการแข่งขันระหว่างประเทศลดลง

3. รักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท

4. พิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไข สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเพียงพอ

5. กำกับดูแลต้นทุนการผลิต และต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อให้การส่งออกไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ เช่น ต้นทุนพลังงาน และค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าขนส่งสินค้าทางทะเล

6. กำกับดูแลสินค้า และการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับ supply chain ในประเทศ

7. กำกับดูแลสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าต้นทุนต่ำจากต่างชาติที่ทะลักเข้ามาในประเทศ จนกระทบต่อผู้ผลิต SME และการจ้างงาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 67)

Tags: , , ,