ผู้ค้าปลีกอังกฤษได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนถึงสัญญาณในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า หลังยอดขายสินค้าชะลอตัวลงอย่างหนักในเดือนมี.ค. เนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้บั่นทอนกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC) และ KPMG ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลกเปิดเผยในรายงานวันนี้ (12 เม.ย.) ว่า ยอดขายสินค้าปรับตัวขึ้นเพียง 3.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรยังคงบังคับใช้มาตรการสกัดโควิด-19 โดยการปรับตัวขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้น ไม่ใช่เพราะผู้บริโภคซื้อสินค้ามากขึ้น โดยร้านจำหน่ายอาหารมียอดขายลดลงอย่างหนัก
ยอดขายดังกล่าวบ่งชี้ว่า วิกฤตค่าครองชีพเริ่มส่งผลกระทบต่อร้านค้าในย่านใจกลางเมืองแล้ว โดยเงินเฟ้อที่เร่งตัวเร็วที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ การจัดเก็บภาษีเงินได้เพิ่มมากขึ้น และสงครามในยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพอย่างรุนแรงในปีนี้
“มีความวิตกกังวลว่า สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลเช่นไรต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผลกระทบที่มีต่อการตัดสินใจใช้จ่ายเงิน” นายดอน วิลเลียมส์ หุ้นส่วนรายย่อยของ KPMG กล่าว โดยเขาระบุว่า บรรดาผู้ค้าปลีก “กำลังเผชิญการตัดสินใจอันยากลำบากระหว่างการแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้นด้วยตนเอง หรือผลักภาระดังกล่าวไปยังผู้บริโภค”
การปรับตัวขึ้นของยอดขายสินค้าในเดือนมี.ค.นั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า และยอดขายชนิด Like-For-Like ปรับตัวลดลง ส่วนยอดขายอาหารในเดือนมี.ค.ปีที่แล้วได้รับแรงหนุนจากเทศกาลอีสเตอร์ที่มาถึงเร็ว โดยผลกระทบอาจปรากฎขึ้นในข้อมูลสำหรับเดือนเม.ย.ปีนี้
อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้ว BRC มีมุมมองบวกจากเหตุผลบางประการ ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสั่นคลอน และร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ยังไม่พลิกฟื้นสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 65)
Tags: KPMG, อังกฤษ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจอังกฤษ