นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวถึงประเด็นการนำเข้ากุ้งของผู้ประกอบการห้องเย็น และโรงงานแปรรูปกุ้ง ว่า สมาคมฯ เข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นนำเข้าเพื่อใช้พยุงอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศตลอดจนรักษาตลาด
อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงกุ้งยังมีความกังวลการนำเข้าจะทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้งนำเข้าแพร่ระบาด รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ นอกจากจะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยง ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ที่ดีของกุ้งไทยกับผู้บริโภคทั่วโลก หากไม่มีมาตรการควบคุมและการจัดการที่เข้มงวดและรัดกุมจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“หลายประเทศให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนกลับได้ การใช้กุ้งนำเข้าสำหรับแปรรูปเพื่อส่งออก จึงต้องคำนึงถึงคุณภาพและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์กุ้งไทยในเวทีการค้าโลก ซึ่งจะมีผลกับความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งไทย”
นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทยกล่าว
ในฐานะเป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ทางสมาคมฯ จึงขอให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่กำกับดูแลการนำเข้ากุ้ง ต้องมีความชัดเจนเรื่องวัตถุประสงค์ของการนำเข้ากุ้งเพื่อใช้สำหรับส่งออกเท่านั้น และต้องมีการกำหนดโควต้า และช่วงเวลาในการนำเข้าที่แน่นอน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตและราคากุ้งในประเทศ รวมทั้งต้องมีมาตรการตรวจโรคที่ติดมากับกุ้งที่เคร่งครัด จนถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการแปรรูป ที่สำคัญกุ้งนำเข้าต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยซึ่งเป็นชื่อเสียงกุ้งไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อสร้างประโยชน์โดยรวมของประเทศ ช่วยรักษาอาชีพพี่น้องของเกษตรกรไทยด้วย
“เกษตรกรขอฝากไปถึงผู้ประกอบการห้องเย็น และแปรรูปเพื่อส่งออก ขอให้บูรณาการทั้งระบบ ในการควบคุมปริมาณนำเข้า การป้องกันโรคที่ติดมากับกุ้ง การบริหารสต็อกกุ้ง จนถึงจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง แนวทางการช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งเพิ่มขีดความสามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศและส่งออกไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า”
นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทยกล่าวเสริม
นอกจากนี้ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ในการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว สร้างความมั่นคงตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งของประเทศ ตั้งแต่ การเพิ่มศักยภาพการเลี้ยง การจัดการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ การป้องกันความเสียหายจากโรค เพื่อช่วยเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับอุปทาน รวมทั้งการกำหนดนโยบายประกันราคาขั้นต่ำในระยะยาวเพื่อเพิ่มเสถียรภาพและช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านราคา ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีขีดความสามารถมากขึ้น
สมาคมฯ มองว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรทบทวนแนวทางการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของไทย ตั้งแต่พัฒนากระบวนการเลี้ยงกุ้งที่มีการจัดการที่ดี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และออกมาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากในทุกวันนี้ ผู้เลี้ยงกุ้งไทยยังประสบกับปัญหาผลผลิตไม่แน่นอน เนื่องจากเกิดความเสียหายจากโรคระบาด ทำให้ต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกรไทยสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้
“ขอขอบคุณภาครัฐที่ทุ่มเทความพยายามช่วยผู้เลี้ยงกุ้งมาโดยตลอด แต่โรคระบาดในกุ้งที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง สร้างความเดือดร้อนให้ผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก จึงขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาทบทวนปรับมาตรการและความช่วยเหลือต่างๆ ที่ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด เพื่อช่วยรักษาอาชีพพี่น้องของเกษตรกรไทยได้มีกำลังช่วยกันผลิตกุ้งคุณภาพปลอดภัยป้อนตลาดได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยรวมของประเทศในระยะยาวอีกด้วย”
นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทยกล่าวปิดท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 64)
Tags: ผู้เลี้ยงกุ้ง, พัชรินทร์ จินดาพรรณ, ราคากุ้ง, สมาคมกุ้งตะวันออกไทย