สภา กทม.ไฟเขียวจ่ายหนี้ BTS ก้อนแรกกว่า 1.4 หมื่นลบ.

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท โดยให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 24 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 10 วันทำการ และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

โดยวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ได้ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. เนื่องจากต้องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่จะครบกำหนดในวันที่ 21 ม.ค.68 โดยเป็นการจ่ายขาดจากเงินสะสมของ กทม. และขณะนี้ระยะเวลาได้ผ่านล่วงเลยมามีผลให้ กทม.ต้องชำระดอกเบี้ยอันเกิดจากความล่าช้าในการชำระหนี้ดังกล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ฝ่ายบริหารฯ ได้พิจารณาเรื่องการชำระหนี้เป็นไปตามขั้นตอนทุกประการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุดโดยไม่มีการเร่งรัดกระบวนการเพราะกังวลเรื่องเสียค่าปรับ โดยขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะดูแลเงินภาษีของประชาชนอย่างดีที่สุด ส่วนตัวไม่กังวลเรื่องมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เนื่องจากได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ และผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภา กทม.

ขณะนี้ กทม.มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท จึงเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าว 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. นอกจากนี้หากสภา กทม.พิจารณาให้จ่ายหนี้ไปยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้น GDP ในช่วงปลายปีอีกทางด้วย เนื่องจากภาคเอกชนจะนำไปเป็นทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ เช่น จ่ายผู้รับเหมา จ่ายแรงงาน

ในส่วนของสำนวนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาให้ กทม.นั้น ห้ามมิให้เปิดเผยสำนวนการไต่สวน โดยเฉพาะชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือการกระทำใด ๆ อันให้ทราบถึงรายละเอียด ตามมาตรา 36 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนั้น กทม. จึงยังไม่สามารถส่งสำนวนให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. ยังไม่อนุญาต แต่ข้อกังวลเรื่องนี้ก็ตกไปเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วจนนำมาซึ่งคำสั่งให้ กทม.ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว

“ขณะนี้เรามองไปถึงอนาคตที่ยังมีหนี้อีก 1 ก้อน ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง รวมถึงสัมปทานที่ให้เอกชนดำเนินการเดินรถฯ ที่จะหมดลงในปี 2572 ทำให้การเดินรถ BTS ช่วงไข่แดง (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทางรวม 23.5 กม. 24 สถานี) ก็จะกลับมาเป็นของ กทม.ทั้งหมด ทั้งส่วนของรายได้และตัวโครงสร้าง กทม.จึงต้องเตรียมวางแผนเรื่องจ้างที่ปรึกษาฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อไป โดยต้องผ่านกระบวนการคิดร่วมกับสภากรุงเทพมหานครให้รอบคอบตามประเด็นข้อบัญญัติต่าง ๆ ของกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคดีความต่อไปในอนาคต” นายชัชชาติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 67)

Tags: , , , , , ,