สภาฯ ล่มซ้ำซาก/ไพบูลย์ เปิดข้อมูลแฉฝ่ายค้านไม่ร่วมโหวตทำประชุมล่ม

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ระหว่างพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาค้างมาจากการประชุมสภาฯสมัยประชุมครั้งที่ 1 หลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางเสร็จสิ้นแล้ว เวลา 14.05 น. นายชวน ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติรับทราบรายงานดังกล่าว แต่ปรากฎว่ามีสมาชิกเพียง 195 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.50 น.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยโปรแกรมรายงานผลการติดตามการโหวตของ ส.ส. จากกรณีที่การประชุมสภาเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 65 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. … ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ แต่เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขาดไป 4 เสียง จนทำให้การประชุมล่มไปนั้น เป็นการโหวตครั้งที่ 143 พบว่าพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 97 คน ส.ส.มาโหวต 83 คน และเมื่อรวมแล้ว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนทั้งหมด 267 คน มาโหวตทั้งสิ้น 175 คน

ส่วนพรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 131 คน มาโหวตเพียง 14 คน พรรคก้าวไกล เจ้าของร่างกฎหมาย มี ส.ส. 52 คน มาโหวต 42 คน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านมีทั้งหมด 208 คน มาโหวตเพียง 59 คน ผลจึงทำให้องค์ประชุม ขาดไป 4 เสียง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะเปรียบเทียบในวันเดียวกับการประชุมสภาช่วงเช้า ซึ่งเป็นการโหวตครั้งที่ 131 พรรคพลังประชารัฐ มาโหวต 84 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ปกติมาโหวตจำนวนสูงมาก แต่ครั้งนี้ถูกกักตัวจาก 59 คน จึงมาโหวต 35 คน รวมทั้งหมดรัฐบาลมาโหวตช่วงเช้า 204 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย มาโหวตเพียง 6 คน ขณะที่พรรคก้าวไกล โหวต 31 คน รวมฝ่ายค้านทั้งหมดโหวตเพียง 40 คน

ทั้งนี้ ยังพบว่าการโหวตเดือน ธ.ค. 64 ซึ่งมีจำนวนการโหวต 70 ครั้ง สิ่งที่สรุปได้คือ มี ส.ส.จำนวน 7 คน ที่ไม่เคยมาโหวตเลยทั้งเดือน และยังมี ส.ส.จำนวน 50 คน มาโหวต 100% และทุกการโหวตของ ส.ส.ทุกคนจะมีการบันทึกไว้หมดในระบบโปรแกรมต่างๆ

“ส.ส.ทุกคนได้รับเงินเดือนภาษีของประชาชน การปฏิบัติหน้าที่ และมาประชุมสภาเพื่อที่จะโหวตเป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ส. ถ้า ส.ส.คนใดบอกว่าไม่ต้องมาโหวต มาทำงานก็ได้ ผมคิดว่าตอบคำถามไม่ได้ เพราะท่านก็มีเงินเดือน และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี จึงอยากให้สังคมติดตามด้วยว่า หลักคิดที่ว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมาโหวตทำได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของสภาอยู่แล้ว และหวังว่าเพื่อนสมาชิกหลายคนที่ออกมาพูดว่าไม่มาประชุม ทำให้สภาล่ม และเรียกร้องให้ยุบสภา ผมคิดว่าท่านเข้าใจผิด ถ้าท่านไม่มาประชุม และคิดว่าไม่อยากมาประชุม แสดงว่าท่านไม่อยากเป็น ส.ส. ทางออก คือ ควรลาออกไปดีกว่ามาเรียกร้องให้ยุบสภา” นายไพบูลย์กล่าว

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.กทม. พรรคกล้า กล่าวว่า สภาชุดนี้ประชุมล่มมาแล้วถึง 14 ครั้ง ส.ส.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมมีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งที่กินเงินเดือนภาษีประชาชน ซึ่งเหตุการณ์สภาล่ม ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป

นายพงศ์พล ยังเสนอให้มีบทลงโทษ เช่น 1) ตั้งกรรมการสอบสวน โดนคาดโทษให้ใบเหลือง 2) หมดสิทธิอภิปราย – โหวตลงมติ 3) ถูกหักเบี้ยประชุม – เงินประจำตำแหน่ง หรือ 4) หมดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง เมื่อขาดประชุมซ้ำซาก ทุกองค์ประชุม จึงเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยกับมาตราการตรวจสอบ ส.ส. ร่วมลงชื่อที่แบบฟอร์มออนไลน์ผ่าน Change.org เพื่อยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในลำดับถัดไป

“นักเรียนขาดเรียน ยังโดนตัดคะแนน พนักงานเงินเดือนขาดงาน ยังโดนตัดเงิน แล้ว ส.ส. ที่รับเงินเดือนเต็มจากภาษี แต่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้ภาษีเราสูญสิ้นฟรีไปกว่า 58 ล้านบาท ควรมีมาตรการลงโทษหรือไม่” นายพงศ์พลกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 65)

Tags: , ,