สภาผู้บริโภค ลุยฟ้องดำเนินดคี OPPO-realme กรณีติดตั้งแอปฯ กู้เงินเถื่อน

นายพรวุฒิ พิพัฒนเดชศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค ระบุ สภาผู้บริโภค จะเดินหน้าฟ้องคดีเป็นคดีกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อแอปพลิเคชั่นกู้เงินเถื่อน รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท OPPO และเรียลมี (realme) หลังพบพฤติกรรมละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการอนุญาตให้แอปฯ สินเชื่อผิดกฎหมาย เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับความยินยอมที่ชัดเจน รวมถึงยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อของแอปฯ เหล่านี้ ทั้งการคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด หรือการทวงหนี้โหด

หัวหน้าฝ่ายนโยบายฯ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากข้อมูลร้องเรียนและข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าบริษัททั้งสอง ละเมิดกฎหมายในหลายประเด็น พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่ง ดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด โดยได้สรุป 7 ประเด็นสำคัญ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1. ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบธุรกิจสินเชื่อที่ผิดกฎหมาย ใต้ร่มเงาของ OPPO โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนว่า “ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยตั้งแต่ยังไม่ได้เงินกู้งวดแรก ทำให้ได้รับเงินจริงน้อยกว่ายอดที่กู้” เช่น กดในแอปกู้เงินว่าต้องการกู้เงินจำนวน 10,000 บาท แต่ได้รับเงินโอนเข้ามาในบัญชีจริงเพียง 5,000 กว่าบาท ซึ่งได้รับแจ้งจากผู้ประกอบธุรกิจว่าได้หักดอกเบี้ยไปก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากคำนวณแล้วจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยราว 2,600% ต่อปี จำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปกว่าร้อยเท่าตัว และแม้จะอ้างว่าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดเพียง 36% ต่อปีเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ได้ขออนุญาตกับ ธปท. บริษัทจะไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654

ดังนั้นก รณีดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 มีโทษจำคุกถึง 2 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สภาผู้บริโภคจึงขอกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ธปท. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

2. สภาผู้บริโภคยังได้รับร้องเรียนว่า “มีการทวงหนี้กับบุคคลรอบข้าง ทำให้ได้รับความอับอาย” จึงมีประเด็นพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจแอปกู้เงินเถื่อนที่ติดมากับมือถือ OPPO ทวงถามหนี้ได้ลักษณะนี้ได้หรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 (1) ได้ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง

ในส่วนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ต้องเข้ามามีบทบาทในการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยเช่นเดียวกัน

3. เบอร์โทรศัพท์ของเจ้าของเครื่องถูกดูดไปอยู่ในมือของแอปฯ เหล่านี้ได้อย่างไร ข้อมูลจากผู้ร้องเรียนรายหนึ่งแจ้งว่า ตอนที่เปิดแอปกู้เงินที่ติดตั้งมากับมือถือ OPPO ในครั้งแรก มีการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลบนมือถือเกินกว่าความจำเป็นไปอย่างมาก ทั้งกล้อง รูปภาพ และวิดีโอในเครื่อง รายชื่อผู้ติดต่อ นัดหมายในปฏิทิน รวมทั้งตำแหน่งของผู้ใช้งานอีกด้วย จึงสันนิษฐานมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้โดยเจ้าของข้อมูลไม่ได้ให้ความยินยอม

และแม้อ้างว่าผู้ใช้งานกดยอมรับเองตั้งแต่แรก ก็อาจมีการแอบซ่อนเงื่อนไขที่ไม่ได้ทำโดยชัดแจ้ง ทั้งยังเป็นการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างไม่อาจยอมรับได้ โดยการกระทำเหล่านี้ ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) อย่างร้ายแรง

สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล PDPA สนับสนุนการดำเนินคดีกับแอปฯ บนมือถือ OPPO ด้วยเช่นเดียวกัน และหากแอปฯ Fineasy เข้าข่ายเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ไม่ได้แจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทราบก่อนประกอบธุรกิจ จะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะทำให้ สพธอ. มีคำสั่งห้ามแพลตฟอร์มนั้นให้บริการ จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ได้เช่นกัน

4. การติดตั้งแอปฯ มาพร้อมกับมือถือ OPPO โดยไม่สามารถถอนการติดตั้งได้ เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

5. การติดตั้งแอปฯ นอกจากจะเสียพื้นที่ความจุในโทรศัพท์มือถือแล้ว ในบางครั้งยังมีการทำงานเบื้องหลัง (Background Running) ที่อาจใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใช้งานซื้อเครื่องที่มีความจุ 64 GB แต่เมื่อหักลบพื้นที่ของแอปฯ ที่ถูกติดตั้งมาให้ตั้งแต่แรกแล้ว อาจเหลือพื้นที่ใช้งานจริงเพียงไม่ถึง 60 GB และอาจต้องเสียค่าอินเทอร์เน็ตในการรับส่งข้อมูลจากแอปฯ เหล่านี้ โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัวอีกเดือนละหลายสิบบาท

ปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ที่ยังไม่ครอบคลุม เพราะการขอใบรับรองมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ไม่ได้มีการตรวจสอบไปถึงระบบปฏิบัติการและแอปฯ ที่ติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องว่ามีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานเพียงพอหรือไม่ OPPO จึงยังใช้โอกาสนี้เอาเปรียบผู้บริโภคมาโดยตลอด

6. OPPO ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากกรณีดังกล่าวมากเท่าที่ควร โดยหลังจากเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว บริษัทฯ ใช้เวลากว่า 7 วันก่อนที่จะออกมาแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา โดยแจ้งว่าจะจัดการอัปเดตแอปฯ ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 มกราคมนี้

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภค มองว่า การที่ OPPO เป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก การแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยใช้ระยะเวลาที่นานกว่า 17 วันนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการกระทำผิดกฎหมายของแอปฯ ที่ติดตั้งมาภายใต้การกำกับดูแลของแบรนด์มือถือ และทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเป็นการประวิงเวลาอยู่หรือไม่

นอกจากนี้ หลังจาก OPPO ถูก กสทช. สั่งให้ลบแอปฯ ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น ภายในวันที่ 16 มกราคม และให้หยุดจำหน่ายสินค้า แต่ปรากฏรายงานว่ายังคงมีมือถือ OPPO ที่มีแอปฯ ดังกล่าววางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ อีกทั้งผู้ใช้งานที่อัปเดตแอปฯ ยังพบว่าแม้แอปฯ เวอร์ชันใหม่จะสามารถถอนการติดตั้งได้แล้ว แต่ก็มีการแจ้งเตือนโฆษณาเงินกู้เด้งขึ้นมาจำนวนมากแทน

7. ควรให้เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่าง และป้องปรามไม่ให้แอปกู้เงินที่ผิดกฏหมายอื่น ๆ ที่ยังอยู่มากมายในเพลย์ สโตร์ (Play Store) หรือถูกติดตั้งมากับโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่น

หัวหน้าฝ่ายนโยบายฯ สภาผู้บริโภค ระบุอีกว่า จากที่มีเครือข่ายภาคประชาชนหลายส่วน โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ออกมาสืบเสาะหาต้นกำเนิดของการรับส่งข้อมูลผ่านแอปฯ Fineasy และสินเชื่อความสุข ผ่านการแกะรอยผ่านซอร์สโค้ด (Source Code) และเอพีไอ API เบื้องหลังแอปพลิเคชัน พบว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับแอปกู้เงินอีกหลายราย

  • ชวนผู้ได้รับผลกระทบ รวมตัวแจ้งความ 21 ม.ค.

สภาผู้บริโภค จึงเห็นว่ากรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่าง และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการตามหาแอปกู้เงินเถื่อนอีกมากมาย รวมทั้งแบรนด์โทรศัพท์มือถืออื่นที่ยังดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกับ OPPO

ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอให้หน่วยงานของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมีในการลงโทษ เปรียบเทียบปรับในการดำเนินธุรกิจของ OPPO และ realme ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดแบบอย่างให้กับบริษัทธุรกิจอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการคุ้มครองผู้บริโภคและรักษาประโยชน์ของประชาชน

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค เชิญชวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว เข้าร่วมแจ้งความในวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลา 09.30 น. ณ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินคดีจนถึงที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 68)

Tags: , , ,