นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้มีจำนวนคนไข้ปริมาณมาก จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายกับที่เข้ามาใหม่ไม่สมดุลกันทำให้เตียงว่างมีไม่พอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของคนไข้ในช่วงนี้ และสิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักมาหลายเดือนอยู่แล้วมีไม่พอ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน หรือ Home isolation เข้ามาใช้เพื่อให้จำนวนบุคลากรที่มีสามารถดูแลผู้ป่วยในปริมาณมากๆ ได้ โดยขณะนี้มีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถีและวันนี้ (29 มิ.ย.) จะมีการประชุมโรงพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมขยายระบบดังกล่าวไปทั่วประเทศ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ระบบ Home isolation ของไทยนี้จะต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบของไทยจะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล โดยมอบอุปกรณ์วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล
ดังนั้น ระบบของไทยจึงไม่ใช่การผลักผู้ป่วยให้ไปเผชิญชะตากรรมเดียวดายอยู่ที่บ้าน แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ไม่ได้ทำกับผู้ป่วยทั้งหมดแต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่
“สปสช.เราจะสนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วันให้ด้วย สิ่งที่เรากลัวคือท่านไม่อยู่บ้านแต่ออกมาข้างนอก แต่คนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ต้องมีการแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวกันระดับหนึ่งเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎและอยู่บ้านจริงๆ
เราคิดว่าถ้ามีการส่งอาหารส่งน้ำให้ทุกวันก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรให้ออกจากบ้าน ส่วนอาหารจะส่งยังไงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของโรงพยาบาล เช่น ประกอบอาหารจากโรงครัวแล้วส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน หรืออาจสั่งซื้ออาหารจากร้านค้าแล้วใช้บริการจัดส่งอาหารไปส่งให้ผู้ป่วยก็ได้”
นพ.จเด็จ กล่าว
นอกจากการทำ Home isolation ในบางสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคนก็อาจทำเป็นลักษณะ Community isolation ก็ได้ คือนำผู้ป่วยหลายๆ คนไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด เป็นต้น มีรถเอกซเรย์ รถแล็บไปตรวจ มีแพทย์ใช้ระบบ teleconference ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน
“ดังนั้น หลักการคือดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ให้ มีระบบการดูแลติดตามอาการทุกวัน และมีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ 3 มื้อ นอกจากนี้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตรวจพบเชื้อแล้วจะให้ไปอยู่บ้านทันที อาจจะเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลก่อน 7 วัน พอเชื้อในตัวหมดลง อาการดีขึ้นก็กลับไปดูแลตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วันก็ได้ และแนวทางนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำตลอดไปแต่เอามาใช้ในสถานการณ์ที่เตียงเริ่มมีความตึงตัวเท่านั้น”
นพ.จเด็จ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Home Isolation, กักตัวควบคุมโรค, จเด็จ ธรรมธัชอารี, ผู้ป่วยโควิด, สปสช., โควิด-19