นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบาย สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เดินหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา เนื่องจากโครงการฯ จะเป็นโอกาสที่สบพ.จะสามารถแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพเชิงรุก เพื่อสร้างรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ตลอดจน สามารถสร้างผลกำไรที่จะช่วยลดการลงทุนในส่วนของงบประมาณจากภาครัฐ ควบคู่ไปด้วย และจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรด้านช่างอากาศยานและช่างผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานฯ และเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบิน ในพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (aviation Technical Zone : ATZ) รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) อีกด้วย
“สบพ.กำลังศึกษาและจะสรุปรายละเอียดภายในปีนี้ จะทำให้เห็นความชัดเจน ว่าจะมีการพัฒนาอย่างไร มีเป้าหมายและผลที่จะได้รับอย่างไร ที่สำคัญเป็นเรื่องที่จะรองรับนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลด้วย”
นางสาวภุคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสบพ.กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายเกิดขึ้นรัฐบาลยุค คสช. ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน เพื่อสนับสนุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่ง MRO จะเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างบมจ. การบินไทย (THAI) และบริษัท แอร์บัส โดยรัฐบาลให้สบพ.ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรรองรับ MRO ทั้งด้านการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยปัจจุบัน สบพ.ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อเนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลปักหมุดเรื่อง MRO อู่ตะเภาไว้
โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และทบทวนปรับลดขนาดการลงทุนลง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งเดิมโครงการฯประเมินมูลค่าลงทุนประมาณ 1,023 ล้านบาท แต่นโยบายต้องการให้ปรับวงเงินลงทุนลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาทเพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณมากเกินไป ล่าสุด สบพ.ได้ศึกษาทบทวน และปรับลดวงเงินโครงการมาอยู่ที่ 972.13 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 758 ล้านบาท, ค่าครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอนประมาณ 214 ล้านบาท พื้นที่ดำเนินการประมาณ 50 ไร่
คาดว่าจะสรุปการศึกษาความเป็นไปได้ฯ ในเดือนก.ย. 67 หลังจากนั้น จะนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) สบพ.พิจารณา หากได้รับการอนุมัติจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) โดยของบประมาณ 30 ล้านบาท ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะจัดจ้างได้ในไตรมาส 1 ปี 2568 ใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 6 เดือน
ผู้ว่าฯสบพ. กล่าวว่า หลังบอร์ดสบพ.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการฯ พร้อมอนุมัติงบศึกษาออกแบบแล้ว จะเสนอกระทรวงคมนาคม และ เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เพื่อปรับลดงบลงทุนและให้ความเห็นประกอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ ส่วนการก่อสร้างนั้น คาดว่าภายไตรมาส 3 ปี 2568 และจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและได้ตัวผู้รับจ้าง ไม่เกินต้นปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน และ เปิดรับนักศึกษาได้ในปี 2571
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน MRO ยังไม่มีความก้าวหน้าเนื่องจากเดิม ปักหมุดว่าเป็น MRO โดยการบินไทยปัจจุบัน การบินไทย ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เนื่องจากต้องรอเรื่องการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม การผลิตบุคลากร จะต้องเดินหน้าต่อไป เนื่องจากในพื้นที่อีอีซี ยังมีศูนย์ซ่อม MRO ของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย ไม่เฉพาะแต่โครงการของการบินไทยเท่านั้น ดังนั้นโครงการจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มิ.ย. 67)
Tags: มนพร เจริญศรี, สบพ., อู่ตะเภา