นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงแผนการกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 ว่า มีแผนการกู้เงินทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1.12 ล้านล้านบาท และการบริหารหนี้เดิมอีก 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่ง สบน. จะใช้เครื่องมือการกู้เงินทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3-50 ปี ยังเป็นเครื่องมือหลัก วงเงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีการทำธุรกรรม Bond Switching วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท การออกตั๋วเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และเทอมโลน 3.9-5.9 แสนล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ยืนยันว่า แผนการกู้เงินของรัฐบาลจะเน้นการกู้เงินจากในประเทศเป็นหลัก แต่ก็จะมีการพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศได้หากตลาดในประเทศตึงเกินไป โดยปัจจุบัน สบน. ได้มีการเปิดวงเงินกู้ต่างประเทศไว้กับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้ปิดโอกาสแต่อย่างใด แต่การกู้เงินในส่วนนี้ต้องดูเวลาและความเหมาะสมก่อน
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติกรอบวงเงินแล้ว 2.37 แสนล้านบาท มีการกู้เงินแล้ว 1.44 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 1.3 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีกราว 2.63 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินในส่วนที่เหลือนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ที่มีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นประธานว่าจะเสนอโครงการลงทุนใดบ้างให้ ครม. พิจารณา ซึ่งหากโครงการผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว สบน. จึงจะดำเนินการกู้เงิน
“ปัจจุบันมีโครงการที่ทยอยเบิกจ่ายเงินแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่เริ่มมีการเบิกจ่าย และหลังจากนี้คาดว่าจะมีความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่ง สบน.จะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้ โดยมีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2565 หากมีการกู้เงินตามแผนการก่อหนี้เต็มวงเงิน และการกู้เงินโควิดครบ 5 แสนล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี จากสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 57.98% ต่อจีดีพี”
นางแพตริเซีย กล่าว
นางแพตริเซีย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินตามกรอบของพ.ร.บ. กองทุนน้ำมัน ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมสภาพคล่องในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรว่า เรื่องดังกล่าวกองทุนน้ำมันมีอำนาจดำเนินการกู้เงินได้เองตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สบน. แต่อย่างใด แต่หากเรื่องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แผนการกู้เงินดังกล่าวก็จะถูกบรรจุอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ จึงจะเริ่มกู้เงินได้
ทั้งนี้ การกู้เงินนั้น สบน. สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ได้ แต่กระบวนการกู้เงินเป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมันที่จะต้องดำเนินการเอง สบน.ไม่สามารถจัดการให้ได้ และวงเงินกู้ดังกล่าวจะถูกนำมาคำนวณในแผนบริหารหนี้สาธารณะ แต่การชำระหนี้เป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 64)
Tags: กู้เงิน, สบน., สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, หนี้สาธารณะ, แพตริเซีย มงคลวนิช