นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2567 ยังสามารถทำต่อไปได้ แม้ว่าปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะล่าช้าออกไป โดยเป็นการทำขาดดุลผ่านงบประมาณที่ใช้ไปพลางก่อน ดังนั้นจึงยังไม่มีวาระที่กระทรวงการคลังจะต้องออกกฎหมายกู้เงินพิเศษในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่ออก เบื้องต้นยังคงเป็นการกู้เงินตามกรอบการขาดดุลงบประมาณเดิมในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งไม่ได้เป็นการกู้รอบเดียว แต่เป็นการทยอยกู้ตามความต้องการใช้เงิน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ในปีงบ 2566 ทำได้ค่อนข้างดี สูงกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ความจำเป็นในการกู้ชดเชยขาดดุลก็ต้องถอย ต้องดูความสมดุลในการจัดทำงบประมาณด้วย และปรับแนวทางการกู้เงิน ไปใช้การกู้เงินแบบเหลื่อมปี โดยในปีงบประมาณ 2566 ยังเป็นการกู้ชดเชยเต็มวงเงิน แต่จะมีการกันวงเงินราว 4 หมื่นล้านบาทที่กู้ไม่เต็มในปีนี้ ไปกู้แบบเหลื่อมปี เพื่อรองรับการใช้เงินของรัฐบาลในช่วงต้นปีหน้า หลังจากงบประมาณปี 2567 ล่าช้าออกไป ถือเป็นการบริหารเงิน ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
ส่วนมาตรการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่คาดว่าจะต้องมีการใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะต้องหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในเรื่องของการเตรียมนโยบาย โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือมายัง สบน. ว่าจะต้องมีการเตรียมวงเงินสำหรับรองรับมาตรการดังกล่าวจำนวนเท่าใด แต่ในส่วนของการทำขาดดุลงบประมาณปี 2567 ยังคงเป็นไปตามกรอบเดิม ส่วนจะมีการเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ต้องไปดูว่ารัฐบาลจะมีการปรับงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อย่างไร
นางแพตริเซีย ระบุถึงกรณีที่จำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม รัฐบาลยังมีช่องว่างทางการคลังในการกู้ได้อีกเป็นจำนวนเท่าใดว่า ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ประมาณ 61% ยังต่ำกว่าเพดานที่ 70% แต่ไม่จำเป็นต้องกู้จนเต็มเพดาน เพราะจะมีภาระเรื่องดอกเบี้ยจากการกู้ที่จะต้องมาพิจารณา รวมถึงความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่พิจารณาเห็นชอบแผนการก่อหนี้ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเก่าที่ ครม. ได้มีการเห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่การกู้เงินในโครงการใหม่ ๆ เพื่อให้มีวงเงินรองรับการดำเนินงาน ไม่ให้โครงการขาดช่วง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 66)
Tags: งบประมาณปี 67, สบน., แพตริเซีย มงคลวนิช