สนพ. เผย 4 เดือนแรกปีนี้ ยอดใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 0.4% หลังศก.ฟื้นตัว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) พบว่าการใช้พลังงานขั้นต้น เพิ่มขึ้น 3.8% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (เชิงพาณิชย์) เพิ่มขึ้น 0.4% โดยเพิ่มขึ้นมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป 3.8% ผลมาจากการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มถึง 89.1% และน้ำมันเบนซิน 6.2% ในขณะที่พลังงานอื่นๆ มีการใช้ลดลง โดยการใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 8.9%

*สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 4 เดือนแรก ปี 2566 สรุปได้ดังนี้

– การใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 4.7% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน LPG (ไม่รวมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และน้ำมันเตา 89.1% 6.2% 2.8% และ 2.4% ตามลำดับ การใช้น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล ลดลง 34.2% และ 3.4% ตามลำดับ โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 3.4% อยู่ที่ระดับ 75 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้น 6.2% อยู่ที่ระดับ 31 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 88.8% อยู่ที่ระดับ 14 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 2.4% อยู่ที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน

– การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ลดลง 3.0% อยู่ที่ระดับ 17.4 พันตันต่อวัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 41% มีการใช้ลดลง 12.7% รองลงมาภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 33% มีการใช้ลดลง 1.1% ภาคขนส่งมีสัดส่วน 14% มีการใช้เพิ่มขึ้น 8.6% ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วน 11% มีการใช้เพิ่มขึ้น 5.0%

– การใช้ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ลดลง 3.8% อยู่ที่ระดับ 4,208 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงาน และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ 13.1% 2.0% และ 1.3% ตามลำดับ ในขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 6.3%

– การใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 2.9% อยู่ที่ระดับ 5,265 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 8.9% และการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4.3% โดยสัดส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ 80/20 ซึ่ง 51% ของการใช้ถ่านหินอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ 96% ของการใช้ลิกไนต์ เป็นการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

– การใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 0.4% มีการใช้รวมทั้งสิ้น 64,285 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ และอื่นๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าลดลง ปัจจัยจากการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 3.7% และการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ลดลง 0.4%

ทั้งนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 (ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 66) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 14.28 น. อยู่ที่ระดับ 33,623 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

*สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 4 เดือน (ม.ค.- มิ.ย. 66)

ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ในระดับ 77.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน อยู่ในระดับ 93.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในระดับ 94.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ จะอยู่ระหว่าง 81-87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน จะอยู่ระหว่าง 96-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล จะอยู่ระหว่าง 91-98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

*ทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่ง สนพ. คาดว่า โครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จะทำให้เกิด “โครงสร้างราคา” ที่เหมาะสมตามต้นทุนและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตลาด เกิดราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน เกิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรฐกิจไทย และภาครัฐสามารถกำกับดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สนพ. ยังคงติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤติราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป

*หารือคลัง ดูแลราคาดีเซล

สำหรับกรณีมาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะหมดในวันที่ 20 ก.ค. 66 นั้น นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง และได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ทำแนวทางการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาดูแลราคาดีเซลในแต่ละสถานการณ์ราคาไว้แล้ว ซึ่งปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลง โดยยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้ามาดูแลราคาพลังงานได้ ส่วนกรณีภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินนั้น เป็นอำนาจของกระทรวงการคลังโดยตรง คงต้องสอบถามไปที่กระทรวงการคลัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 66)

Tags: , ,