นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา อดีตทนาย กปปส., นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต นัดรวมตัวมวลชนสวมเสื้อสีเหลือง เพื่อลงชื่อแนบท้ายคำร้อง และยื่นหนังสือถึงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิก MOU 2544 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งทันทีที่มาถึง นายสนธิ และนายปานเทพ เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีหยุดดำเนินการตาม MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้น กับนายฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง และขอให้ปฏิบัติตามข้อเสนอภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ
สำหรับข้อเรีกร้องต่อนายกรัฐมนตรี มี 6 ข้อ ประกอบด้วย
1. ขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
2. ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อ ครม. พิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และJC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัด หรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
3. หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเจรจา ตาม MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
4. แต่หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอให้ ครม. จัดให้มีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ”
5. ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
6. ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชน เรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ ขอให้ ครม.พิจารณา และแจ้งผลการพิจารณากลับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.ได้พิจารณาให้เวลา 15 วันมาทวงคำตอบ
นายสนธิ กล่าวว่า หลังจากนี้ จะไปร้องเรียนต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร สส. และสว.ด้วย เพราะหากสภาฯ ไม่ยกเลิก MOU 44 ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขายชาติ และอนาคตข้างหน้าหากมีผู้อำนาจชุดใหม่เข้ามา ก็สามารถใช้ประเด็นนี้เล่นงานทางกฏหมาย พวก สส. และสว.บางคน และคณะรัฐมนตรีทุกคนในข้อหาขายชาติ รวมไปถึงจะมีการร้องเรียนที่กระทรวงการต่างประเทศ ถ้าท่านไม่ปกป้องอาณาเขตไทยร่างสัญญาใหม่ แล้วตกลงทำตาม ท่านก็คือข้าราชการขายชาติเช่นกัน
“ผมอายุมากแล้ว นี่คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทำอะไรงวดนี้ ต้องทำด้วยความระวัง สู้ครั้งนี้ ถ้าจะสู้ในที่สุดแล้ว ต้องชนะในลูกเดียว…ถ้าถึงเวลาที่จะลง (ถนน) กันจะมามากกว่านี้พันเท่า หมื่นเท่า … เราจะทำเป็นขั้นเป็นตอนไป ทำจนกระทั่งสุดขั้นตอน สุดซอยแล้ว ยังไม่รู้เรื่อง ก็จะทะลุซอยเลย” นายสนธิ กล่าว
นายสนธิ กล่าวว่า หลังจากนี้อีก 15 วัน จะมีการมาทวงถามเรื่องนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไปตกลงกันเองในสภา พร้อมถามย้ำกับมวลชนว่า หากถึงวันที่ต้องออกมาแสดงพลัง มวลชนพร้อมหรือไม่
“ผมทำผิดตรงไหน ที่รักชาติ ทำผิดตรงไหน ที่ไม่ยอมส่งต่อดินแดนของเรา สิทธิอาณาเขตของเราให้กับกัมพูชา เพียงเพราะผู้นำเขมรและนายกรัฐมนตรีทับซ้อน บางคนมีข้อตกลงกันที่จะแบ่งผลประโยชน์กัน 50 : 50 และวันนี้ ถือเป็นการแสดงพลังให้ฝ่ายตรงข้ามได้เห็น” นายสนธิ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเดินทางมายื่นหนังสือของนายสนธิ เป็นไปอย่างคึกคัก มีมวลชนมารอต้อนรับ และคอยฟังการให้สัมภาษณ์ของนายสนธิเป็นจำนวนมาก บางส่วนมีการตะโกนเรียกร้องให้นายสนธิ ประกาศชุมนุมทันที เพื่อออกมาคัดค้าน MOU 44
ขณะที่วันเดียวกันนี้ น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี เข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบ เวลา 10.40 น. ซึ่งเป็นช่วงที่นายสนธิ ยื่นหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 67)
Tags: กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ทำเนียบรัฐบาล, มหาวิทยาลัยรังสิต, สนธิ ลิ้มทองกุล, แพทองธาร ชินวัตร